กขร.ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มดีขึ้น ยืนยันการเลื่อนการปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2015 16:40 —สำนักโฆษก

วันนี้ (22ก.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมาย นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 7/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินงานและปฏิทินโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปฏิทินโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 แล้ว และให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการว่ากรณีที่ส่วนราชการดำเนินการผูกพันงบประมาณไม่ทันภายในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยลงนามสัญญาไม่ได้และกรณีที่ไม่มีเหตุผลสมควรในการขอขยายเวลาก่อหนี้ผูกพัน ให้พิจารณายกเลิกรายการนั้น เพื่อนำงบประมาณรายการนั้นไปใช้ในรายการตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุม กขร. ได้ขอความร่วมมือทุกกระทรวงและหน่วยงานราชการเร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายและทันตามแผนที่กำหนดดังกล่าวโดยเร็ว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้ 1) นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในบันทึกรายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 -31 พฤษภาคม 2558) ว่า “ให้จัดลำดับเร่งด่วน กฎหมายที่มีปัญหาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ต้องเรียบร้อย หาข้อยุติ และให้ list กฎหมาย/พระราชบัญญัติที่มีปัญหาความขัดแย้งที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) หาข้อยุติโดยเร็วกับทุกหน่วยงาน “

2) คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ให้ทุกกระทรวงรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาร่างกฎหมายในความรับผิดชอบที่อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี หรือการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังมีประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อถกเถียงในสังคมที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เช่น กฎหมายพลังงาน กฎหมายยาสูบ กฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายประมง โดยให้พิจารณาทบทวนความเหมาะสมและความจำเป็นในการตรากฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และ Road Map ของ คสช. ตลอดจนช่วยระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ แล้วส่งให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมและรายงานนายกรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามนโยบายสำคัญ 2 เรื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งโดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงเกษตร โดยกรมชลประทานได้ประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558/2559 ออกไปจากเดือนพฤษภาคม เป็นเพาะปลูกข้าวประมาณกลางเดือนกรกฏาคม 2558 เป็นต้นไป รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำสำหรับรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน (21 ก.ค.58) กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการประชุมหารือร่วมกับอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้พบว่าสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ขณะเดียวกันหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงก็ยังปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างนี้จะมีการติดตามผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะกรณีที่ได้เลื่อนการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการพยากรณ์อากาศและน้ำจากกรมอุตุนิยมวิทยา และGISTDA ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจะมีปริมาณฝนตก และจะตกฉุกมากในช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เพราะฉะนั้นในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ทั้งเจ้าพระยาตอนบนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงจังหวัดพิษณุโลกซึ่งขณะนี้ข้าวอยู่ระหว่างการตั้งท้องและออกรวง รอการเก็บเกี่ยวคาดว่าจะใช้น้ำไม่มากนัก แต่ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างคงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 จะมีน้ำทะเลหนุนมากจึงต้องมีการดูแลในเรื่องการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อากาศและปริมาณน้ำ รวมถึงการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ก็คาดว่าปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์,เขื่อนแควน้อยบำรุงแ?ดน และเขื่อนภูมิพล) จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากขึ้น ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งยืนยันว่ากรณีการเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระ ทบต่อผลผลิต เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง

อีกทั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินมาตรการบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง โดยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างทั้งหมด 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ ปทุมธานี พรนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และจังหวัดราชบุรี โดยได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานซึ่งเป็นพื้นที่ดอนและเสี่ยงต่อน้ำไปไม่ถึง รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เริ่มปลูกข้าวแล้ว โดยเน้นในช่วงต้นข้าวมีอายุ 15- 60 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องการน้ำมาก ทั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยขุดเจาะบ่อบาดดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ โดยมีเป้าหมายขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 511 บ่อ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 473 บ่อ และมีการสูบน้ำมาใช้แล้ว จำนวน 217 แห่ง รวมทั้งได้ดำเนินการสูบน้ำจากบ่อสังเกตการณ์ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 380 บ่อ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากบ่อสังเกตการณ์ไปแล้ว 217 แห่ง ซึ่งหากดำเนินการณ์ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วคาดว่าเกษตรกรจะสามารถสูบน้ำมาใช้ได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ถึง 100,000 – 130,000 ไร่ และประชาชนจำนวน 4,000 ครัวเรือนได้รับประโยชน์ พร้อมกันนี้ยืนยันว่ากรณีการสูบน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวด เพราะได้มีการดำเนินการตามหลักวิชาการและมาตรฐานสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ประกอบกับในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง น้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาเพื่อนำมาใช้อย่างปลอดภัยมีปริมาณจำนวนทั้งสิ้น 10,819 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่ปัจจุบันใช้ไปเพียง 869 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งทำให้ยังเหลือปริมาณน้ำที่สามารถสูบมาใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันปริมาณน้ำบาดาลที่ได้ดำเนินการขุดเจาะทั้ง 551 บ่อ ยังสามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไปได้อีกด้วย

2) การใช้มาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีเพื่อปกป้องสถาบัน โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 เรื่องการดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยให้ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่งตั้งบุคคลเป็นคณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่ตรวจสอบ และระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิเตอร์ เว็บไชต์ สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง และคลิปเสียง ที่เผยแพร่ในเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย โดยประสานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและมีอำนาจระงับการเผยแพร่เว็บไชต์ที่ฝ่าฝืน ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ผู้บังคังการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน มีผู้แทนหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง (ประมาณ 10 คน) เป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีการเข้ารหัสจะต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งและกระทรวงฯ จะนำคำสั่งศาลส่งให้เจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการเพื่อขอให้ระงับการเผยแพร่ ในกรณีเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Facebook, you tube ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่างประเทศมองว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ ซึ่งอาจไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายของประเทศผู้ให้บริการ ซึ่งต้องทำความเข้าใจและขอความร่วมมือเป็นรายกรณี

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิไลวรรณ/รายงาน

ดวงใจ/ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ