นายกรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบุกรุกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองอื่น ๆ

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2015 14:38 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า เร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบุกรุกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองอื่น ๆ โดยให้จัดหาพื้นที่เหมาะสมให้เป็นที่อยู่อาศัยทดแทนให้ประชาชนซื้อได้ในราคาถูก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า เร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบุกรุกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองอื่น ๆ โดยให้จัดหาพื้นที่เหมาะสมให้เป็นที่อยู่อาศัยทดแทนให้ประชาชนซื้อได้ในราคาถูก และให้สร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นในการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเร่งพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์

ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการสำรวจและตรวจสอบสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้รับอนุญาตและออกใบอนุญาต โดยสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า (พ.ศ.2506-ปีปัจจุบัน) มีรายละเอียดดังนี้ 1. ท่าเทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส จำนวน 243 แห่ง 2. ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส จำนวน 352 แห่ง 3. สะพานปรับระดับและโป๊ะเทียบเรือ 149 แห่ง 4. สะพานข้ามแม่น้ำหรือสะพานข้ามคลอง จำนวน 278 แห่ง 5. ท่อหรือสายเคเบิล จำนวน 525 แห่ง 6. เขื่อนกันน้ำเซาะ จำนวน 337 แห่ง 7. คานเรือ จำนวน 10 แห่ง 8. โรงสูบน้ำ จำนวน 32 แห่ง 9. อื่น ๆ จำนวน 108 แห่ง รวมทั้งหมด 2,034 แห่ง

โดยมีแผนปฏิบัติการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ดังนี้

1. ด้านการสร้างความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ การแจ้งเบาะแส ความผิด และอัตราโทษ เพื่อป้องปราบการกระทำผิดเพิ่มเติม และให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย กรมเจ้าท่าดำเนินการสำรวจตรวจสอบแนวแบ่งเขตสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่พิพาทด้วยวิธีการจ้างเหมาสำรวจดำเนินการโดย กรมเจ้าท่าส่วนกลาง และเจ้าท่าภูมิภาคสาขาโดย เจ้าท่า หรือคณะกรรมการ เป็นผู้กำหนดแนวแบ่งเขตสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำให้ผู้รับจ้างดำเนินการสำรวจจัดทำแผนที่แสดงแนวแบ่งเขตพื้นที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีหน่วยงานสำรวจและแผนที่ของกรมเจ้าท่าสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค

3. กรมเจ้าท่าได้เสนอปรับโครงสร้างและอัตรากำลัง โดยเพิ่ม “กลุ่มคดีและการบังคับคดี” เพื่อให้สามารถเร่งรัดดำเนินคดี รื้อถอนได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

4. ด้านกฎหมาย ได้จัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเพิ่มอัตราโทษของความผิดเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยผิดกฎหมายให้มากขึ้นจากเดิม

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ