กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Saturday August 1, 2015 16:44 —สำนักโฆษก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย เป็นต้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับปริมาณและความต้องการสินค้าในตลาด (Demand and Supply) ซึ่งรัฐบาลควบคุมได้ยากและไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนในจำนวนมากได้

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานผลการดำเนินงานตามโครงการ Road Map เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตร ดังนี้

1. โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว (2 ปี) ดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เป้าหมายและทิศทาง การพัฒนาชนิดพันธุ์ข้าว ลักษณะพื้นที่ ความต้องการของเกษตรกรและตลาด โดย กรมการข้าว ดำเนินการในพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว (S1 S2 S3) ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต (ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวขาว และข้าวเหนียว) แก่เกษตรกร 48,000 ราย ส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) อาทิ ข้าวอินทรีย์ ข้าวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวโภชนาการสูง 6,500 ราย กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูก (N) ด้วยการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมทางเลือก 106,655 ราย ปรับเปลี่ยนข้าวเป็นอ้อย 17,532 ราย สนับสนุนการลงทุนการผลิตด้วยเงินอุดหนุนในการปรับสภาพพื้นที่ จัดทำคันดิน การจัดวางระบบให้น้ำ การขุดสระน้ำขนาดเล็ก และค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สารเคมี

2. โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์

  • กระบือ (ปี 2558-2562) วงเงินทั้งโครงการ 944.50 ล้านบาท และได้รับจัดสรรปี 2559 จำนวน 8.5 ล้านบาท โดยให้เกษตรกรกู้เพื่อนำไปเลี้ยงลูกกระบือ (เพศผู้ราคา 5,000 บาท/ตัว เพศเมียราคา 10,000 บาท/ตัว) สนับสนุนค่าเลี้ยงดูพ่อพันธุ์กระบือประจำกลุ่ม ๆ ละ 5,000 บาท รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณแม่กระบือ 25,000 ตัว เป็น 45,250 ตัว ภายในปี 2562
  • โคนม สนับสนุนให้สหกรณ์ใช้เงินกู้ 1,023.45 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างฟาร์มโคนม 150 ฟาร์ม แม่โครีดนม 6,000 ตัว ใน 3 สหกรณ์ ด้วยการพัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงโคสาวทดแทน จัดตั้งศูนย์ผลิตอาหาร (Feed Center) รวบรวมน้ำนมดิบและลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการขนส่งน้ำนม จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโค 19,710 ตัน/ปี
  • ไก่พื้นเมือง (1 ปี) งบกลางปี 2558 จำนวน 15.05 ล้านบาท เพิ่มจำนวนแม่ไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ 47,000 ตัว เกษตรกร 3,317 ราย และพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง 683 ราย

3. โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง (ปี 2558 = 52.99 ล้านบาท)

  • กุ้งทะเล (ปี 2558-ปี 2560) ร่วมกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง 6 จังหวัด พื้นที่ดำเนินการ 25,986 ไร่ ดำเนินการลดความเสียหายจากโรคระบาด โดยการตรวจคัดกรองโรคในกุ้งทะเลให้แก่เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตด้านอาหารกุ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางขายผลผลิตสู่ตลาด modern trade/ส่งออก รวมทั้งจัดหาตลาดและจัดทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ปี 2558 ดำเนินการใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พื้นที่การเลี้ยง 1,091 ไร่ ผลผลิต 660 ตันต่อปี เกษตรกร 214 ราย
  • หอยแครง (ปี 2558-ปี 2560) ดำเนินการที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่เลี้ยงหอยแครง 4,000 ไร่ พัฒนาและสร้างแหล่งพ่อแม่พันธุ์หอยแครง 5,000 ไร่ ส่งเสริมเทคนิคการเลี้ยงหอยแครงที่เหมาะสมแก่เกษตรกร 466 ฟาร์ม ปี 2558 บำบัดและฟื้นฟูพื้นที่เลี้ยงหอยแครง 2,000 ไร่ พัฒนาและสร้างแหล่งพ่อแม่พันธุ์หอยแครง 200 ไร่
  • ปลานิล (ปี 2558-ปี 2560) ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี เชียงราย กาฬสินธุ์ และนครศรีธรรมราช โดยการพัฒนาระบบการเลี้ยง ฝึกอบรมเกษตรกรในด้านการเพาะเลี้ยงปลานิล 900 ราย ผลิตปลานิลพันธุ์ดีให้เกษตรกรเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ 150,000 ตัว จัดตั้งกลุ่มเพาะเลี้ยงและเชื่อมโยงตลาด 1 แห่ง ปี 2558 ผลิตปลานิลพันธุ์ดีให้เกษตรกรเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ 50,000 ตัว จัดตั้งกลุ่มเพาะเลี้ยง 4 กลุ่ม ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม GAP 400 ฟาร์ม

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้ในด้านการแปรรูปยางพารา สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จำนวน 209 ราย กิจกรรม หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ดำเนินงานได้ 66 กิจกรรม

  • หมู่บ้านชาวสวนยางพัฒนา มีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการจำนวน 6 หมู่บ้าน
  • เงินทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือผู้รับการสงเคราะห์ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 651 ราย
  • ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยสมัครเข้าร่วมกลุ่ม มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมกลุ่ม จำนวน 11,623 ราย จัดตั้งกลุ่มได้ 2 กลุ่ม
  • การปลูกพืชแซมในสวนยาง

ดำเนินการปลูกฯ 89,695.60 ไร่

  • มีการส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง ดำเนินการปลูกฯ 72,880.05 ไร่
  • การจัดตั้งตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่นเป้าหมาย
  • จัดตั้งกลุ่มใหม่เพิ่ม จำนวน 42 กลุ่ม
  • ดูแลกลุ่มเดิมต่อเนื่อง จำนวน 408 กลุ่ม

5. ด้านปุ๋ย

5.1 ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

  • ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 608,892.93 ตัน พื้นที่ 630,827.73 ไร่ 77 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค.58) โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน
  • ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และปุ๋ยสั่งตัด ดำเนินกิจกรรมผ่านกลไกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่จัดตั้งขึ้นอำเภอละ 1 ศูนย์ พื้นที่ 77 จังหวัด รวม 882 ศูนย์ พบว่า เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ 9.9-32.9% และเพิ่มผลผลิตได้ 4.0-11.1% เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร

5.2 การแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพงและไม่ได้มาตรฐาน/คุณภาพ ดำเนินการดังนี้

(1) การเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อขอลดราคา 10-20%

(2) การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าปุ๋ยอินทรีย์

(3) การกำหนดคุณลักษณะของผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อพัฒนาและควบคุมคุณภาพในการผลิตปุ๋ยให้ได้มาตรฐาน

5.3 การแก้ไขปัญหาเกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับดินและพืช ดำเนินการดังนี้

(1) จัดทำคู่มือการจัดการดินและปุ๋ยภายใต้หลักการ “การใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี” เพื่อใช้เป็นคู่มือ 3 รูปแบบสำหรับผู้บริหารนักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ (ทุกกรม) และเกษตรกร

(2) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการใช้ปุ๋ยตามลักษณะของดินและชนิดของพืช” โดยกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมจัดทำคู่มือการจัดการดินและปุ๋ยอย่างถูกวิธีและเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา

6. ด้านเมล็ดพันธุ์

6.1 โครงการขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (5 ปี) ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว 1.3 ล้านตัน ความต้องการในตลาด 800,000 ตัน ชาวนาเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง 500,000 ตัน สามารถผลิตได้เพื่อสนองความต้องการตลาด 515,000 ตัน ขาดเมล็ดพันธุ์ในตลาดอีก 285,000 ตัน จำเป็นต้องตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์เพิ่มเติม 15 ศูนย์ ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มได้ปีละ 2,500-4,000 ตัน/ศูนย์ รวม 60,000 ตัน โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการทั้ง 15 ศูนย์ รวม 3,181.20 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 111.00 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์ (จัดหา สำรวจ ปรับพื้นที่/ภูมิทัศน์) 5 ศูนย์ คือ จังหวัดนครนายก ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

6.2 การผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีสนับสนุนเกษตรกร มีหน่วยงานดำเนินการผลิตพันธุ์พืช รวมทั้งสิ้น 71 หน่วยงาน ใน 56 จังหวัด ผลิตพืชพันธุ์ดี ในชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลักและชั้นพันธุ์ขยาย จากการขยายผลงานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์พืช ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปผลิตขยายต่อเป็นชั้นพันธุ์จำหน่ายก่อนที่จะขยายไปสู่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์ดี โดยในปี 2558 ได้ผลิตและกระจายพันธุ์พืชไร่ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ข้าวโพด ทานตะวัน งา ถั่วหรั่ง ฝ้าย ข้าวฟาง และถั่วพุ่ม ทั้งนี้มีพันธุ์พืชที่กระจายไปสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายแล้ว เป็นเมล็ดพันธุ์จำนวน 1,065.13 ตัน และ 16,651.370 ท่อน พืชสวน ได้แก่ กลุ่มไม้ผล กลุ่มพืชอุตสาหกรรม กลุ่มพืชผัก กลุ่มพืชสมุนไพร และ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งนี้มีพันธุ์พืชสวนที่กระจายไปสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายแล้ว เป็นต้นพันธุ์ จำนวน 708,213 ต้น เมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,880.63 กิโลกรัม เมล็ดงอก 1,128,082 เมล็ด ผลพันธุ์ 86,350 ผล และหน่อพันธุ์ 195,154 หน่อ

6.3 การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองในชุมชน กรณีหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม “พันธุ์นครสวรรค์ 3”

(1) ดำเนินการในพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ ตาก เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกรวม 516 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จำนวน 97 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.8 ล้านบาท เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง 12.8 ตัน จำหน่าย 84.2 ตัน มีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 3.8 ล้านบาท เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้นำไปปลูกต่อในพื้นที่ 32,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่ท้องถิ่น 22,400 ตัน มูลค่า 135 ล้านบาท

(2) บูรณาการร่วมกับสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมในพื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเกษตรกรสมาชิกกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในฤดูแล้ง ปี 2557/2558 พื้นที่รวม 500 ไร่ ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 100 ตัน สร้างรายได้แก่สมาชิกสหกรณ์ประมาณ 10 ล้านบาท

6.4 ด้านเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน

โครงการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง) ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วฤดูแล้งในชุมชน โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน จำนวน 160 ศูนย์ สมาชิกศูนย์ละ 20 ราย รวม 3,200 ราย ใน 30 จังหวัด (กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี) สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรบางส่วน เพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ศูนย์ละ 40 ไร่ รวม 6,400 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการส่งมอบเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวให้แก่เกษตรกรใช้ปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558 ตามแผนการผลิต

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ