นายกฯ เผยไทยมีศักยภาพทางการแพทย์ พร้อมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสู่ Medical Hub

ข่าวทั่วไป Tuesday August 18, 2015 09:47 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม และฮอลล์ 9 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

วันนี้ (18 ส.ค. 58) เวลา 16.00 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม และฮอลล์ 9 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมนวัตกรรมไทยด้านการแพทย์และสาธารณสุข” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์เพื่อคนไทย” โดยมีคณะรัฐมนตรี อาทิ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพิเชฐ ตุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวรายงานว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุขนั้น คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.จัดงานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทยขึ้น ระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพบปะกันระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ใช้นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข อันจะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและสามารถนำไปใช้ได้จริง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงตามความจำเป็นด้านสุขภาพ และส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพของอาเซียนได้ในอนาคต ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของไทย ที่มีการรวบรวมผู้พัฒนานวัตกรรม ผู้ประดิษฐ์คิดค้น นักลงทุน หน่วยงานสนับสนุนภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มาพบปะกัน โดยกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้คิดค้นนวัตกรรม ทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา มีผลิตภัณฑ์มาแสดงไม่ต่ำกว่า 1,000 รายการ 2.ผู้ใช้งานนวัตกรรมการแพทย์ ทั้งจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม สนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ และ 4.ประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งานนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ในปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถของนักประดิษฐ์ไทย แต่ยังขาดการบูรณาการระหว่างผู้คิดค้น หน่วยงานของรัฐ นักลงทุน ภาคเอกชน ความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพบปะ แลกเปลี่ยนระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ๆ

ทั้งนี้ งานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทยครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 ส.ค.นี้ เพื่อเป็นเวทีพบปะระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ฯ ผู้ผลิต และผู้ใช้งานจริง เพิ่มโอกาสเจรจาจับคู่ธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้ รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยจะนำผลงานนวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย ประมาณ 1,000 รายการ มาจัดแสดงผลงาน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 ราย ซึ่งมีนวัตกรรมผลงานที่โดดเด่น อาทิ บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ดินสอมินิ หุ่นยนต์สอนเด็กออทิสติก และรถพยาบาลนาโน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนาที่เป็นการแลกเปลี่ยนจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ เสวนารัฐซื้อรัฐ ใช้สินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ เสวนาและถ่ายทอดประสบการณ์ “กว่าจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ของคนไทย” เสวนา “โอกาสและปัจจัยเอื้อ เพื่อเสริมความมั่นใจต่อนวัตกรรมทางการแพทย์ไทย” และเสวนา “การลงทุนร่วมภาครัฐเอกชนสู่การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ไทย”

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากโลกวันนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากการสื่อสารที่รวดเร็วแล้ว การแพร่กระจายของเชื้อโรคจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การระบาดของไข้หวัด MERS ที่มีการแพร่ระบาดไปในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แต่ยังโชคดีที่กระทรวงสาธารณสุขของเราได้ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว การรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยการพัฒนาด้านการแพทย์ ซึ่งนอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังต้องพึ่งเทคโนโลยี ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือด้านการแพทย์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญต่อการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรม โดยกำหนดให้การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างหลักประกันด้านการแพทย์ให้กับประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้า วิจัยภายในประเทศอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการต่อยอดงานวิจัยเป็นผลผลิตทางการแพทย์

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังจะเห็นว่า การขยายตัวของวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 9 ต่อปี โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าสูงถึง 21,299 ล้านบาท ขณะเดียวกันไทยก็มีความสามารถในการส่งออกวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ปีละ 17,197 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub)” อย่างไรก็ตามวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไทยผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้โดยมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก ซึ่งเน้นที่การผลิตวัตถุดิบ (ยางและพลาสติก) ในประเทศเป็นหลัก เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ และพร้อมที่จะออกวางจำหน่าย จะมีขั้นตอนในการดำเนินงานหลัก เริ่มตั้งแต่การวิจัยพัฒนาและการออกแบบวัสดุอุปกรณ์ การนำวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มาทำการทดสอบทางคลินิก (Clinical trial) เพื่อให้ได้ผลการทดสอบทางการแพทย์ที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น CE Mark (EU) หรือ UL (US) อย่างไรก็ตาม แนวคิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายนวัตกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนด้วย

อีกทั้ง รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ และมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30 : 70 หรือปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจ ระเบียบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และออกสู่ตลาด โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดความต้องการของภาครัฐที่ใช้นวัตกรรมไทย 4 สาขาซึ่งมีสาขาการแพทย์และสาธารณสุขรวมอยู่ด้วย เพื่อรวบรวมรายการสินค้าหรือบริการนวัตกรรมไทยที่ต้องการการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และกำหนดแนวทางการรับรองมาตรฐานสินค้าหรือบริการนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการนำไปใช้ประโยชน์

ตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นงานที่มีความสำคัญกับประเทศไม่แพ้งานด้านอื่นๆ ประเทศไทยจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาทั้ง วัคซีนป้องกันโรค รวมถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย หากพวกเราทุกฝ่ายสามารถร่วมมือร่วมใจ ร่วมพัฒนา “ไทยวิจัย ไทยผลิต ไทยใช้” ประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงทางด้านการแพทย์ไม่แพ้ชาติใดในโลก

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ และบูธต่าง ๆ พร้อมกล่าวทักทายผู้ที่มาเที่ยวชมงาน

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ