ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ชี้การสร้างการยอมรับของประชาชนสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 28, 2015 13:57 —สำนักโฆษก

สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเสวนา “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัยจริงหรือ” เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเตรียมความพร้อมในการวางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยได้มีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร หัวหน้าแผนกปฏิกรนิวเคลียร์ ฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.ปิยธิดา ไตรนุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.ไชยยศ สุนทราภา วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และดร.สุนทร คุณชัยมัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยมี ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินรายการ

ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยพล.ต.ชัยณรงค์ เชิดชู นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยได้หยิบยกคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาผลกระทบในมิติต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ และวางแผนสำหรับอนาคต โดยต้องมองทั้งข้อดีและข้อเสียควบคู่กันไป และให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประเทศพยายามช่วยเหลือกัน

ดร.นทีกูล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความต้องการพลังงาน 60,000 เมกกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตของไทยอยู่ที่ 35,000 เมกกะวัตต์ โดยในช่วงมกราคมถึงเมษายนของปีนี้ ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ถึงร้อยละ 70 ในขณะที่ผลิตจากถ่านหินลิกไนต์เพียงร้อยละ 17 และพลังงานหมุนเวียนรวมร้อยละ 10 ในจำนวนนี้ร้อยละ 2.2 มาจากพลังงานน้ำของไทย และร้อยละ 5.1 มาจากพลังงานน้ำของลาว สำหรับการเตรียมแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้านั้น ได้คำนึงถึงสมดุลของ 3 มิติที่สำคัญได้แก่ ความมั่นคงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และราคาที่เหมาะสมซึ่งขึ้นกับเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการพลังงานของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ซึ่ง กฟผ. ได้พิจารณาทางเลือกของการอนุรักษ์พลังงาน ของการหาพลังงานหมุนเวียนทางเลือก และการซื้อจากต่างประเทศควบคู่กันไป

ด้าน ดร.ปิยธิดา กล่าวว่า หลักการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือการควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์จากธาตุยูเรเนียมให้ปลดปล่อยความร้อนในเตาปฏิกรณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยใช้ความร้อน เปลี่ยนน้ำเป็นไอน้ำความดันสูง และไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเทอร์ไบน์ โดยระบบเตาปฏิกรณ์ยุคใหม่ซึ่งพัฒนามาจากองค์ความรู้การกำกับดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 400 แห่งทั่วโลก มาใช้เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบการรักษาความปลอดภัยได้รับการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องโดยการทำงานของเตาปฏิกรณ์จะหยุดทันทีเมื่อมีสัญญาณจากแผ่นดินไหว ความร้อนหรือความดันที่สูงเกินไป และปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เร็วเกินไป ซึ่งการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 ก้อน ซึ่งมีขนาด 7 กรัมหรือเทียบเท่าขนาดของยางลบที่ติดที่ปลายดินสอนั้น จะเทียบเคียงได้กับพลังงานที่ได้จากการใช้น้ำมันถึง 158 ลิตรหรือถ่านหินถึง 1 ตัน พร้อมทั้งยืนยันว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาด ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

ขณะที่ ดร.ไชยยศ กล่าวว่า ปส. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลโรงงานนิวเคลียร์ โดยทำงานยึดหลักกฎระเบียบ มาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และยินดีทำงานตรวจสอบการดำเนินกิจการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ร่วมกับประชาชน

อาจารย์ศศิน กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ก่อปัญหาเหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ได้มีประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตน แต่เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องตัดสินใจเดินต่อไปข้างหน้า ประเด็นสำคัญคือเรื่องการสร้างความยอมรับของคนในพื้นที่มากกว่า ไม่ใช่การบอกข้อมูลความต้องการพลังงาน หรือเล่าเรื่องเทคโนโลยีให้ชาวบ้านฟัง ต้องนั่งจับเข่าคุยกันกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการยอมรับ ต้องทำงานกับชาวบ้านอย่างจริงใจ

ด้าน ดร.สุนทร ในฐานะผู้แทนภาคเอกชนกล่าวว่า คนไทยไม่คุ้นเคยและยังไม่พร้อมกับการสื่อสารที่มีความซับซ้อน ดังเช่นการสร้างการยอมรับของการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การดำเนินการต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชน อาจใช้โลกออนไลน์มาช่วยเพราะสังคมปัจจุบันกำลังก้าวสู่สังคมดิจิตอล ต้องทำกิจกรรมซีเอสอาร์ หรือกิจกรรมที่องค์กรแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาคม มีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ได้มีการจัดตั้งกองทุน ดึงรายได้จากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า ให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้ประโยชน์ ให้ชุมชนได้ผลตอบแทน การสร้างการยอมรับต้องคำนึงถึงตรรกะ หรือลำดับความคิดความเป็นเหตุเป็นผล ต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ให้การดำเนินการเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ

ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า โจทย์ของวันนี้คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัยจริงหรือ ต้องแบ่งออกได้เป็นสองมิติ คือ 1. เชิงเทคโนโลยีซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากประสบการณ์ของทั่วโลก รวมถึงเรื่องของการพัฒนากำลังคนทางด้านนี้ และ 2. เชิงการยอมรับทั้งในมุมของการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉินทางรังสี ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการยอมรับ คือกระบวนการในการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน และความจริงใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ