นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีทำลายงาช้าง 2 ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday August 26, 2015 17:15 —สำนักโฆษก

ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านและแก้ไขปัญหาการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย พร้อมมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และต่อต้านการลักลอบล่าและค้างาช้างอย่างผิดกฎหมาย

วันนี้ (26 สิงหาคม 2558) เวลา 10.30 น. ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีทำลายงาช้างของกลางที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดินไทย โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณมากาเร็ต อาคูลโล่ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ผู้แทนเลขาธิการไซเตส) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 เห็นชอบแนวทางการจัดการงาช้างของกลาง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติภายใต้อนุสัญญา CITIES ซึ่งอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม และส่วนที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้เพื่อการศึกษาฯ ให้นำไปทำลายเพื่อป้องกันไม่ให้ของผิดกฎหมายกลับเข้าสู่ตลาดไปอีก หรือเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยเท่านั้น และจะไม่ให้แก่ประเทศภาคีอนุสัญญาค้าหรือขายงาช้างของกลาง เนื่องจากเป็นของผิดกฎหมาย

สำหรับกระบวนการในการทำลายงาช้างของกลางที่ดำเนินคดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดินแล้วรวม 2,155 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงาช้างแอฟริกา อยู่ในสภาพสวยงาม สมบูรณ์ มีความยาวตั้งแต่ 1-3 เมตร และผลิตภัณฑ์งาช้าง ที่ดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อนำไปบดและเผาทำลายเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในวันนี้ โดยคณะทำงานตรวจสอบงาช้างของกลางจะเปิดตู้คอนเทนเนอร์ออก จากนั้นจะลำเลียงของกลางไปยังลานพิธี และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดส่งวิญญาณ เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่างาช้างเป็นของสูง และจะมีพิธีพราหมณ์เพื่อบอกกล่าวเทวดาฟ้าดิน เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาจะมีการบดทำลาย โดยใช้เครื่องบดย่อยหิน ซึ่งสามารถบดย่อยได้ขนาดเล็กสุด 7-10 มิลลิเมตร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจะบดงาช้างทั้งหมดแล้วเสร็จ

จากนั้น จะนำงาช้างที่ผ่านการบดแล้วบรรจุลงถังขนาด 200 ลิตร หรือถุงบิ๊กแบ็ก ก่อนลำเลียงผงงาช้างขึ้นรถบรรทุกที่มีระบบรักษาความปลอดภัย มีระบบติดตามการเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) นำไปเผาที่บริษัท อัคคีปราการ ซึ่งเป็นโรงงานกำจัดกากสารเคมีและวัตถุอันตรายจากอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ โดยใช้ความร้อนสูงประมาณ 1,100 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ กากที่เหลือจากการเผาจะถูกปะปนกับขยะอุตสาหกรรมอื่นจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกก่อนนำไปฝังกลบต่อไป ซึ่งตลอดเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอารักขาจนกว่าจะเดินทางไปถึงโรงงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ในการต่อต้านและแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าและค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITESที่ให้ประเทศไทยจัดทำแผนปฏิบัติการค้างาช้างเพื่อควบคุมการค้างาช้างที่มีประสิทธิภาพภายใต้“โครงการทำลายงาช้างของกลางที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดิน”

ซึ่งประเทศไทย ถือว่า “ช้าง” เป็นสัตว์มีคุณค่าและมีบทบาทสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาโดยตลอด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ช้างเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของธงชาติไทย ตลอดจนความเชื่อและศาสนา โดยปัจจุบันงาช้างบ้านและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากงาช้างบ้านยังคงมีสะสมไว้ในครอบครองและมีการซื้อขายอย่างถูกต้องในประเทศไทย อย่างไรก็ตามไม่สามารถนำงาช้างบ้านของไทยออกไปนอกประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยปฏิบัติตามกติกาของอนุสัญญาCITESและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสถานการณ์การลักลอบค้างาช้างยังมีความรุนแรงโดยในประเทศไทยมีการลักลอบนำเข้างาช้างจากประเทศในแอฟริกา มีศูนย์กลางการค้างาช้างอยู่ในแถบอาเซียน โดยมีประเทศต้นทางจากประเทศแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งประเทศไทยเป็นปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการค้างาช้าง และนำไปสู่การซื้อขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจกหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ทำเป็นปกติและเพื่อประโยชน์ทางการค้า การนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและนำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำอีกว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ประชากรช้าง ไม่เฉพาะช้างที่มีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงช้างทั้งหมดในโลกนี้ และได้ใช้ความพยายามทั้งในด้านการออกกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ในการค้างาช้างหรือการมีไว้ในครอบครอง เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาการลักลอบค้างาช้างข้ามชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจับตาเป็นพิเศษว่าเป็นศูนย์กลางการค้างาช้างผิดกฎหมายในภูมิภาค และในหลายครั้งที่ประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านการขนส่งงาช้างผิดกฎหมายไปสู่ประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการ CITES อย่างเร่งด่วนภายในเดือนกันยายน 2557 เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลนี้เริ่มเข้ามารับหน้าที่และมีเวลาเพียง 2 เดือน ในการจัดส่งแผนปฏิบัติการฉบับแก้ไขให้ทันตามกำหนดเวลา หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาCITESร้องขอ ประเทศไทยอาจถูกประเทศสมาชิกอื่นๆระงับการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญา ซึ่งจะนำมาความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศได้ ดังนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มต้น และได้มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดดำเนินการโดยด่วนและรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า พิธีการทำลายงาช้างของกลางที่คดีสิ้นสุดและตกเป็นของแผ่นดินในวันนี้ เป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อสร้างภาพแต่เป็นการกระทำอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจและความจริงใจของประเทศไทยในการแก้ปัญหาการค้างาช้างข้ามชาติร่วมกับประเทศสมาชิกทั่วโลก และไม่ให้การสนับสนุนการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบงาช้างของกลางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยมหิดล กองบิน 4 ตาคลี กองทัพอากาศ จังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมศุลกากร และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท / รายงาน

ดวงใจ / ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ