ไทยได้รับเสียงชื่นชมในฐานะสมาชิกที่เข้มแข็งขององค์การสหประชาชาติตลอดหกทศวรรษ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 16, 2015 15:10 —สำนักโฆษก

ในโอกาส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม 2558

วันนี้ (พุธ 16 ก.ย. 58) พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทบาทไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติว่า ไทยมีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆ ของสหประชาชาติตลอดระยะเวลากว่า 69 ปี ทั้งการรักษาสันติภาพและการสนับสนุนการพัฒนา ส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อสหประชาชาติและเป็นชาติที่มีมนุษยธรรมและความเอื้ออาทรในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เมื่อได้รับการร้องขอในห้วงเวลาที่ได้ยากลำบาก

ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 ขององค์การสหประชาชาติ

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2489 ภายหลังสหประชาชาติได้ก่อตั้งเพียง 1 ปี เป็นการยืนยันแก่ประชาคมโลกว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสังคมโลกแล้ว แต่ก็มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันไทยเองก็ได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ทั้งในแง่ความมั่นคง และการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของหน่วยงานสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ตั้งขององค์การหลักในระดับภูมิภาคและสำนักงานที่สำคัญ ๆ ของสหประชาชาติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สำนักงานส่วนภูมิภาคของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก เป็นต้น

บทบาทไทยในการส่งเสริมสันติภาพและรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ

ไทยให้การสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการส่งเสริมสันติภาพและการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศตามกำลังและความเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก การส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังรักษาความปลอดภัยในอิรัก เป็นต้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเสียงชมเฉยจากนานาชาติต่อการปฏิบัติการของไทยว่า กองกำลังของไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ ตามคำร้องขอจากสหประชาชาติในแต่ละครั้ง โดยดำเนินการทั้งมิติด้านความปลอดภัยควบคู่ไปกับมิติด้านการพัฒนา ทำให้ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชมของคนท้องถิ่น อาทิ ติมอร์ตะวันออกหรือประเทศในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากการคุ้มครองความปลอดภัยแล้ว ทหารและเจ้าหน้าที่ไทยยังนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ สอนการทำการเกษตร ฝึกทักษะการดำรงชีวิตแก่ประชาชนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถฟื้นฟูความอยู่ได้หลังภัยสงคราม

บทบาทของไทยในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ของสหประชาชาติ

ตั้งแต่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อ 69 ปี ที่ผ่านมา ผู้แทนของประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสหประชาชาติอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 11 ปี 2499 โดยพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงได้รับการเลือกจากประเทศสมาชิกสมัชชาฯ สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2529-2530 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยด้วยว่า ปัจจุบันไทยกำลังรณรงค์เสนอตัวลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council– UNSC วาระปี 2560-2561 อีกด้วย

ความเป็นมาและบทบาทของสหประชาชาติต่อประชาคมโลก สหประชาชาติ (United Nations(UN)) เป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1945 เป็นเวทีแห่งความร่วมมือของประชาคมโลกในด้านกฎหมายและความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ โดยมีองค์กรหลัก ได้แก่ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security Council) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council : ECOSOC) คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ (Trusteeship Council) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (Secretariat) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ โดยเลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน คือ นายบัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การเคารพในหลักความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรโลก ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ