นายกรัฐมนตรีเร่งขจัดการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบให้หมดจากประเทศไทย เตรียมเอาผิดทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนรู้เห็น ช่วยเหลือและเพิกเฉย

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2015 15:14 —สำนักโฆษก

วันนี้ (18 กันยายน 2558) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังการประชุม นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย สรุปสาระสำคัญของประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนต้นของการประชุมในวันนี้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ และถือเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นในสายตาของนานาประเทศ หรือ องค์กรระหว่างประเทศ แต่ต้องการให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและไม่ต้องการให้มีการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในประเทศไทย

ในที่ประชุม มีการสรุปผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 5 คณะ ให้ที่ประชุมรับทราบ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ (2) คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว (4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และ (5) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

โดยในที่ประชุมมีเรื่องเพื่อพิจารณาที่สำคัญ 2 ประเด็น กล่าวคือ

ประเด็นแรก การพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของทางราชการ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุน หรือ ไปมีส่วนร่วม ตลอดจน เพิกเฉยต่อการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เน้นความสำคัญในเรื่องของการประกันตัว

โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำจุดสำคัญ เรื่องการที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือหรือรับความช่วยเหลือจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉยหรือทำให้เกิดการค้ามนุษย์ และในเรื่องของการประกันตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้ทำการลงโทษได้ทันที ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และจะไปดำเนินการปรับและนำไปสู่การบังคับใช้ต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ต.ค. 58

ประเด็นที่สอง ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2558 ซึ่งกล่าวถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งในด้านนโยบายและการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ (policy) ด้านการป้องกัน (prevention) ซึ่งรวมถึง การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก การค้ามนุษย์ด้านประมง ขอทาน ฯลฯ ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (prosecution) ตลอดจน ด้านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศ (Partnership)

โดยรายงานฉบับนี้ เป็นการรายงานประจำปีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และจะจัดส่งให้ประเทศต่างๆได้รับทราบ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report โดยที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกรอบเวลาโดยกำหนดให้ร่างเอกสารแล้วเสร็จภายใน 15 ธ.ค. 58 อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้ขอให้มีการเร่งรัดการจัดทำรายละเอียดสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 15 ต.ค. 58 และขอร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 15 พ.ย. 58

โดยรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารรายงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสรุปผลการปฏิบัติงาน รวมถึงความก้าวหน้าต่างๆ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย และสั่งการว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันทำ และร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละสาขา ให้มีความสมบูรณ์ และยังได้กำชับให้เน้นเรื่องหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ให้เร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยรวมถึงการแก้ไขปัญหาแรงงาน ให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการในเรื่องการจัดหาแรงงานที่ถูกต้องเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะด้านประมง

ด้านปัญหาจากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการทางเพศกับเด็ก (Child sex) นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้โดยเร็ว รวมถึง สื่อลามกอนาจารต่างๆ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการและกำชับเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือพยาน ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปคุ้มครอง ดูแล ให้สามารถเข้าไปสู่กระบวนการได้อย่างปลอดภัย และสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ได้ถึงที่สุด

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำงานจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้นต้องคำนึงว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้หลุดจาก Tier 3 แต่ต้องการไม่ให้มีปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นเลย โดยเน้นการไม่เอารัดเอาเปรียบ ตามหลักมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังกำชับว่าข้าราชการ และเจ้าหน้าจะต้องไม่เพิกเฉยและขับเคลื่อนทำให้เกิดผล รวมถึงการทำรายงานขอให้เน้นสัมฤทธิ์ผลของงานว่าเกิดผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ให้มีการประเมินเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ