ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2015 15:59 —สำนักโฆษก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กรกฎาคม 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,771,755 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 75,575 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5) เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 61,144 51,014 34,404 และ 20,854 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.1 7.9 30.2 และ 23.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมัน การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 48,970 28,047 และ 11,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.6 24.3 และ 10.5 ตามลำดับ”

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจะพยายามบริหารการจัดเก็บรายได้ให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด เพื่อเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงพร้อมสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนกรกฎาคม 2558 และในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กรกฎาคม 2558)

ในเดือนกรกฎาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 141,805 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,668 ล้านบาท หรือร้อยละ5.8 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.5) ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรก

ของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กรกฎาคม 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 1,771,755 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 75,575 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5)

1. เดือนกรกฎาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 141,805 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,668 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.5) โดยการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,713 และ 3,073 ล้านบาท

หรือร้อยละ 13.2 และ 33.8 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้า และอุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,575 ล้านบาท เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำส่งเหลื่อมไปในเดือนสิงหาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และโรงงานยาสูบขอเลื่อนการนำส่งรายได้ไปในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,915 ล้านบาท หรือร้อยละ 105.3 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ การนำส่งรายได้จากการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยส่วนหนึ่ง และการจัดเก็บค่าใบอนุญาตต่างด้าวที่สูงกว่าประมาณการ ส่งผลให้ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,536 ล้านบาท

2. ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กรกฎาคม 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,771,755 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 75,575 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5) โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้

ต่ำกว่าประมาณการ 151,826 และ 6,748 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 และ 6.6 ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 28,110 14,674 และ 11,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 4.2 และ 10.5 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,361,526 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 151,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 373,974 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 61,144 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.8) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานกำไรสุทธิจาก

ผลประกอบการปี 2557 ของภาคธุรกิจ (ภ.ง.ด. 50) ภาษีจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) และการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 591,561 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 51,014 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.1) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 49,594 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.7) โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังคงจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับประมาณการ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4 สะท้อนการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังคงเติบโตได้ดี
  • ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 79,549 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 34,404 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.9) เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 367,117 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,674 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.2) เป็นผลจากภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 48,970 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 99.6) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,854 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.8) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว สำหรับภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,068 และ 7,005 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4

และ 11.6 ตามลำดับ

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 95,252 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,748 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.2) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 7,089 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว ประกอบกับการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

ได้ส่งผลกระทบต่ออากรขาเข้าในช่วง 7 เดือน คิดเป็นจำนวน 4,250 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 7.2 และ 5.5 ตามลำดับ สินค้า

ที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 118,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท

ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 148,548 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 28,110 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 35.4) เป็นผลจากกองทุนหมุนเวียนนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 16,876 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง

กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 เป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 7,854 ล้านบาท

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,125 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 63 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.5) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้เหรียญกษาปณ์และรายได้อื่นสูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 227,624 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 182,665 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,235 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 44,959 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,989 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0

2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 9,125 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,125 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 12,015 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,218 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.6

2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 13,277 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,653 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1

2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 7 งวด เป็นเงิน 56,720 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,020 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ