ชาว อ.บาเจาะ วอนขอที่ดินทำกินคืน หลังรัฐประกาศเขตอุทยานทับซ้อน “พิเชฐ” มอบ จิสด้า ใช้ดาวเทียมแก้ปัญหายืดเยื้อ ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยให้ ยึด 4 มาตรการหลัก มีส่วนร่วม-คืนสิทธิถูกต้อง-รักษาทรัพยากร-ทุกคนใช้ข้อมูลกลาง

ข่าวทั่วไป Monday September 7, 2015 15:52 —สำนักโฆษก

6 ก.ย. / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตรวจเยี่ยมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อท้องถิ่นและชุมชน ภายใต้การดำเนินงานในโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินราษฎรทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยมีนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA :จิสด้า) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชม ให้การต้อนรับ ณ ที่ว่าการอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งในการลงพื้นที่วันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยจิสด้าได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบและบูรณาการข้อมูลแปลงที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่อุทยานแห่งขาติบูโด-สุไหงปาดี โดยดำเนินการร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ศอ.บต. สำนักงานบริหารและอนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี กรมอุทยานแห่งชาติฯ เครือข่ายที่ดินบูโดฯ และชาวบ้าน ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายแผนที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ และแผนที่ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดทำ เพื่อหาข้อยุติในความแตกต่างของป่าอนุรักษ์และพื้นที่ทำกิน

"ผมจะกลับไปคุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย โดยยึดหลักสี่ประการ ได้แก่ 1. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม 2. ต้องกำหนดให้มีการคืนสิทธิอย่างถูกต้อง 3. ชุมชน อำเภอและจังหวัด สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และ 4. ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินงานจะต้องข้อมูลชิ้นเดียวกัน" ดร.พิเชฐ กล่าว

ด้าน ดร.อานนท์ กล่าวว่า จิสด้าเป็นหน่วยงานกลางซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ทำกิน แต่มีเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลมอบหมายให้บูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาคืนสิทธิให้กับประชาชนด้วยความเป็นธรรม โดยจิสด้าได้เปรียบเทียบแผนที่แนวเขตที่จัดทำจากส่วนกลางตามมติ ครม. เมื่อ 30 มิ.ย. 2541 และแผนที่แนวเขตที่จัดทำโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของจังหวัดและอำเภอกับชาวบ้านในพื้นที่ ตามมติ ครม. เมื่อ 14 ต.ค. 51 ซึ่งพบว่าแผนที่มีความคล้ายคลึงกันมาก มีความแตกต่างกันเพียง 10% เท่านั้นจากพื้นที่ทั้งหมดใน 23 ตำบล 9 อำเภอของนราธิวาส ยะลาและปัตตานี

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวขอบคุณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ให้ความช่วยเหลือจังหวัดอย่างต่อเนื่องใน 5 งานสำคัญ ได้แก่ 1. การช่วยเหลือเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งนอกจากจิสด้าแล้วยังมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ที่ได้ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 2. การช่วยเหลือข้อมูลเพื่อติดตามพื้นที่ hot spot และไฟป่าบนพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่อนุรักษ์ 3. การให้ความช่วยเหลือเรื่องการบริหารจัดการน้ำกรณีน้ำท่วมฉับพลันและระบบเตือนภัย 4. การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า โดยใช้แผนที่ของจิสด้าเป็นตัวชี้เป้า แล้วให้ชุดเดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา และสุดท้ายคือเรื่องปัญหาการจัดทำแนวเขตพื้นที่บูโด-สุไหงปาดี

นอกจากนี้ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้หารือในการขยายผลความสำเร็จในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับวิถีชีวิตและวิธีการทำมาหากินของประชาชน อีกหลายเรื่อง อาทิ เทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์ทุเรียนกวน เงาะ บูดู การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารฮาลาล ฯลฯ ซึ่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยินดีประสานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและคลีนิคเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยศาสตร์ฯ ต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ