รองนรม.สมคิดฯ ระบุการแก้ไขปัญหายางนายกรัฐมนตรีต้องการให้ช่วยเหลือชาวสวนยางโดยสร้างความเข้มแข็งในการผลิต แปรรูป และเก็บรักษา

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2015 15:59 —สำนักโฆษก

วันนี้ (9ต.ค.58) เวลา 17.00 น. ณ ห้องรับรองชั้น 1 ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมเพื่อติดตามการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำร่วมกับ บริษัทเอกชนที่บ้านเกษะโกมล ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานว่า ทางการยางแห่งประเทศไทยได้แจ้งว่ามีเงินจำนวนหนึ่งที่จะสามารถให้เป็นสวัสดิการสำหรับชาวสวนยางโดยมีการกำหนดเปอร์เซ็นต์ที่ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เป็นครั้งแรกที่จะช่วยดูแลผู้มีอาชีพเกี่ยวกับสวนยางรวมถึงผู้กรีดยาง โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกันจะมีการใช้เงินค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออกยางพาราหรือเซส(CESS) บางส่วนในการที่จะเข้าไปช่วยดูแลเสถียรภาพยางพารา ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นข่าวดีที่อนาคตข้างหน้าจะสามารถดูแลผู้ที่มีอาชีพทำสวนยางได้มากขึ้น

สำหรับปัญหาเร่งด่วนขณะนี้คือ สต็อกยางที่มีอยู่ ประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งขณะนี้จีนขอเสนอซื้อในระดับราคา 42 บาท/กิโลกรัม ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยก็เสนอขอซื้อที่ราคาใกล้เคียงกัน เพื่อนำไปแปรรูป ซึ่งตรงนี้หากใครให้ราคาสูงกว่าก็จะได้ไป โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องมีการจัดส่งและเคลียร์ให้หมดภายในเวลากี่เดือน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสต็อกยางเหล่านี้จะหมดไป ขณะที่ยางอีกส่วนหนึ่งประมาณ 1 แสนกว่าตัน เอกชนก็เสนอขอซื้อในราคาตลาดซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จึงมั่นใจว่าอีกไม่นานสต็อกยางที่มีอยู่เดิมจะค่อย ๆ ทยอยหมดไป

ส่วนยางฤดูใหม่ซึ่งจะเริ่มออกมาประมาณเดือนพฤศจิกายนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการหารือและทำแผนการรับซื้อร่วมกับผู้ส่งออกรายใหญ่ เพื่อประคองราคายางไม่ให้ตกต่ำ สำหรับข้อเรียกร้องของชาวสวนยางที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในราคาที่ต้องการนั้น ตรงนี้จะต้องหารือนายกรัฐมนตรี ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งกติกาที่ได้พูดคุยร่วมกันไว้นายกรัฐมนตรีต้องการให้เป็นการช่วยเหลือให้ชาวสวนยางนำไปสร้างความเข้มแข็งในการปรับโครงสร้างการผลิต การแปรรูป และพัฒนาการเก็บรักษา ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีและคาดว่าวันอังคารซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีจะได้คำตอบที่ชัดเจน

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแนวทางการขับเคลื่อนและอำนาจหน้าที่ของ กรอ.จังหวัด ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน กรอ.จังหวัด ยังมีเท่าเดิมแต่ความรับผิดชอบสูงขึ้น ขณะเดียวกันบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดจะเน้นในเชิงพัฒนาให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยจะต้องมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาภายในประเทศคือให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเติบโตจากภายนอกคือการส่งออก ซึ่งการเติบโตภายในจะต้องเน้นในเรื่องของการเกษตร การผลิต ท่องเที่ยว สินค้าชุมชนหรือ OTOP ก่อนขยายไปสู่การส่งออก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายสิบปีเราปล่อยให้การเติบโตของประเทศไทยไปพึ่งพิงอยู่กับการส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 ของ GDP ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็จะส่งผลกระทบกับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกทันที รวมถึงประเทศไทยด้วย สิ่งสำคัญคือในช่วงเวลานี้ภาคเอกชนไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้สามารถที่จะแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาตนเองในการที่จะเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ซึ่งตรงนี้เป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามหากแม้ตลาดโลกจะยังซบเซาเอกชนไทยก็ไม่ควรใจฝ่อ ตัดงบ ไม่ลงทุน และหวังให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชนควรจะใช้จังหวะนี้ลงทุนในสิ่งที่สามารถจะยกระดับความสามารถของตนเองให้เกิดขึ้น ทั้งเรื่องเครื่องจักร อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ สินค้า การออกแบบ และงบประมาณในการวิจัยพัฒนาให้มากขึ้นในช่วงนี้ เพื่อในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าจะยกระดับสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และขอให้ภาคเอกชนจงเชื่อมั่นในประเทศไทย และตัวเองของภาคเอชนเอง เพราะเศรษฐกิจอยู่ที่ความเชื่อมั่น

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนเจตนาคือต้องการพยายามเร่งรัดการจ่ายเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้จังหวัดเริ่มคิดแผนในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจภายในของแต่ละจังหวัด ซึ่งองค์ประกอบของ กรอ.จังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวจังหวัด ตลอดจนภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำ กรอ.จังหวัดให้เริ่มดำเนินการดังกล่าวทันที โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ติดตามงาน กรอ.จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อทราบถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด หรือมีอุปสรรค ปัญหาตรงจุดใด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างข้างบนกับข้างล่างคือระดับพื้นที่ และสามารถขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ