โฆษกรัฐบาลระบุนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อดีและข้อเสียประกอบการพิจารณากำหนดท่าทีรัฐบาลในการที่จะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2015 14:04 —สำนักโฆษก

วันนี้ (13 ต.ค.58) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภต่อที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาว่าจะเข้าไปอยู่ในกลุ่ม TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจไปตรวจสอบว่าการที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกของ TPP มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เพราะเอกชนหรือภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ต้องด่วนที่จะตัดสินใจโดยขอให้มีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ เพราะการที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มความตกลงใดก็แล้วแต่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้รอบคอบ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าขอให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ที่ชัดเจนถึงข้อดีและข้อเสียในการที่จะเข้าเป็นสมาชิก TPP เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนกำหนดท่าทีของรัฐบาลต่อไป

เรื่องการติดตามมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระตุ้นในเรื่องของการลดหย่อนภาษีเงินได้ การค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนระดับตำบล การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนกองทุนหมู่บ้านชุมชนเมือง กองทุนละ 1 ล้านบาท ฯลฯ โดยนายกรัฐมตรี ได้มอบหมายให้ กรอ.จังหวัดติดตามขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับการประชุมของนายกรัฐมนตรีที่ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม กรอ.จังหวัด เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องมาตรการในการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์น้ำ เพราะในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะมีบางพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาวิกฤตในเรื่องน้ำ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่พบปะประชาชนเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตเรื่องน้ำต่าง ๆ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยดำเนินการในลักษณะของการจ้างผลิตจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เกิดขึ้น 3 ส่วนตามทฤษฎี X Y Z ได้แก่ 1) X คือค่าเช่าที่ รัฐจ่ายค่าเช่าที่ให้ประชาชน 2) Y คือรัฐจ่ายเงินค่าจ้างในการผลิต หรือการปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว ซึ่งจะเป็นพืชอะไรแล้วแต่ที่ในพื้นที่นั้นสนับสนุนให้ปลูก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ฯลฯ โดยรัฐจะเป็นผู้ดูแลเรื่องตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรที่ส่งเสริมให้ปลูกไว้ด้วย และ3) Z คือเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ราคาเรียบร้อย รัฐถึงจะขอเงินคืน โดยอาจจะมีการแบ่งผลกำไรกันตามความเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรได้รับเงิน 3 ส่วนดังกล่าว ( X Y และ Z ) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้ได้รับทราบข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวภายใน 1 เดือน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการฟ้องร้องคดีความระหว่างรัฐบาลไทยหรือประเทศไทยกับบริษัทต่างประเทศ บริษัทในประเทศ ข้าราชการเมือง ข้าราชการประจำ หรือหน่วยงานที่ประกอบธุรกิจ ทั้งกรณีที่รัฐบาลเป็นโจทย์และเป็นจำเลย โดยให้พิจารณาคดี สำคัญ ๆ คือคดีที่มีวงเงินจำนวนมากที่เกิดการฟ้องร้องกัน เช่น มีวงเงินจำนวนหลักพันล้านบาท หรือหมื่นล้านบาท เป็นต้น โดยสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการดังกล่าว เพราะในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงนี้จึงต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชนะหรือแพ้คดีก็จะมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องงบประมาณของประเทศทั้งสิ้นว่าอะไรจะได้มา และอะไรจะต้องเสียไป ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือคดีความต่าง ๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งสิ้น ซึ่งการที่รัฐบาลต้องติดตามคดีต่าง ๆ เพราะผลที่เกิดขึ้นนั้นจะมาตกที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะฉะนั้นในฐานะที่รัฐบาลรับผิดชอบในช่วงเวลานี้จึงต้องติดตามแต่ละคดีว่ามีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งใน 12 คดี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน คือรัฐบาลเป็นโจทย์ 12 คดี และรัฐบาลเป็นจำเลย 12 คดี ทั้งนี้ในกรณีที่รัฐบาลเป็นโจทย์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เปรียบ ซึ่งกรณีการฟ้องร้องที่มีคดีความในเรื่องของเงินและมีการเรียกค่าชดใช้ หรือค่าเสียหายนั้น ใครก็แล้วแต่ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยเขาก็ต้องฟ้องกลับทันที เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าการที่รัฐบาลเป็นโจทย์จะเป็นต่อ ซึ่งตรงนี้หากสื่อมวลชนต้องการทราบในรายละเอียดสามารถสอบถามรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพิ่มเติมได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการวันนี้คือหน่วยงานราชการทุกหน่วยที่เป็นเจ้าของเรื่อง จะต้องติดตามเรื่องของตนเองว่าอยู่ในชั้นไหน และจะต้องดำเนินการอะไรบ้างที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อที่จะดูแลผลประโยชน์ ทั้งนี้หากหน่วยงานต่าง ๆ ละเลยไม่ติดตาม บางเรื่องคดีความขาดอายุไม่สามารถดำเนินการต่อได้ หรือบางเรื่องหากละเลยแล้วเวลากระชั้นชิดเข้ามาก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอย่างอื่นทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำเลยก็กลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไป ซึ่งตรงนี้รวมถึงคดีของการจำนำข้าวที่มีปัญหาเรื่องการทำจดหมายเปิดผนึก โดยวันนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้ชี้แจงให้คณะรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้งหนึ่งว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกรณีคดีรับจำนำข้าว ไม่มีใครเคยกล่าวหาว่านโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องทุจริต ไม่มีใครเคยกล่าวหาว่าท่านหนึ่งท่านใดทุจริต แต่ในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี เขากล่าวหาว่าเมื่อท่านเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในช่วงนั้น ทำไมท่านจึงปล่อยปละละเลยที่จะไม่ตรวจสอบและไม่แก้ไขเมื่อมีการแจ้งเข้ามาจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ที่ระบุว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น แล้วสิ่งที่ดำเนินการก็เป็นไปตามกฎหมายก็คือพระราชบัญญัติความละเมิดซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดก็หมายความว่ากระทำความผิดเองก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่ากระทำความผิดด้วยความจงใจประมาทเลิ่นเล่อ หรือไม่ได้จงใจ หากจงใจก็ต้องฟ้องที่ตัวบุคคลและเขาก็ต้องใช้อำนาจทางการปกครอง เพื่อที่จะเรียกค่าเสียหาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีกำหนดเวลาอยู่หากล่วงเลยไปเกินเวลา 2 ปี จะออกกฎหมายหรือเรียกค่าเสียหายโดยอำนาจทางด้านบริหารไม่ได้ ขณะเดียวกันวิธีการทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้มีวิธีการแก้ปัญหา 7 อย่าง หรือ 8 อย่าง แล้วเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่มีอยู่แค่วิธีเดียวซึ่งท่านต้องทำแบบนี้ หากไม่ทำแบบนี้ก็จะเสียโอกาสในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และก็ถือว่าเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีจะยินดีชดใช้หรือไม่ยินดีชดใช้ก็ต้องไปฟ้องในเรื่องของศาลปกครองต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย หาได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยลุแก่อำนาจหรือใช่อำนาจที่มีอยู่อย่างไม่มีขีดจำกัดแต่อย่างใด ไม่ใช่เช่นนั้น

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดทำประวัติศาสตร์ไทยฉบับแบบย่อทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนไทยหรือนักเรียนทุนที่เดินทางไปศึกษาต่างประเทศ สามารถนำติดตัวได้สะดวกในการที่จะศึกษาให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยว่ามีกี่ยุคสมัย และแต่ละยุคสมัยมีสาระสำคัญเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อที่จะสามารถอธิบายและเล่าให้กับคนต่างประเทศได้รับรู้ถึงประเพณี วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ อีกทั้งยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความรู้สึกรักประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทุกคนด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ