นักวิชาการ กระทรวงวิทย์ฯ ชี้ สาเหตุเพลิงไหม้ปริศนาที่บ้านหลังหนึ่ง จ.กำแพงเพชร ไม่ได้เกิดจากกำมะถันแน่นอน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 9, 2015 14:11 —สำนักโฆษก

จากกรณีข่าวไฟไหม้ปริศนาภายในบ้าน หมู่ที่ 15 บ้านมอสำราญ ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ต่อเนื่อง 6-7 ครั้ง ทำให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่นอน ตู้กับข้าว ห้องครัว โรงรถ ห้องน้ำ และเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหาย ภายหลังตรวจพบดินก้อนกำมะถันที่ใช้สำหรับการหุงต้มอยู่ในห้องครัว เกิดข้อสันนิษฐานจากกรณีนี้ได้ 2 ประเด็นหลักคือ 1.คนทำให้เกิดไฟไหม้ หรือ 2.Spontaneous Combustion สามารถทำได้หากทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เชื้อเพลิง อากาศ พลังงานความร้อน

นายแสวง เกิดปทุม นักวิจัยอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ที่ไฟไหม้ ไม่ได้เกิดจากกำมะถันลุกไหม้แน่นอน และที่บอกว่าได้กลิ่นเหมือนมีอะไรไหม้ นั้นเป็นกลิ่นของไฟไหม้ทั่ว ๆ ไป ถ้าเป็นกำมะถันลุกไหม้จะมีกลิ่นฉุนมากของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คงไม่สามารถมายืนชี้จุดเกิดเหตุแบบสบายใจอย่างนี้ได้ ส่วนก้อนกำมะถันไม่สามารถลุกไหม้เองได้ถ้ามีอุณหภูมิไม่ถึง 205 c ที่เป็นจุดวาบไฟ (Flash Point) ของกำมะถัน เหมือนกับถ่าน ถ้าอุณหภูมิไม่สูงถึงจุด วาบไฟ ที่ 349 C ก็จะไม่ลุกตอดไฟเช่นกัน

สารที่สามารถลุกติดไฟ ได้เอง ได้แก่ ฟอสฟอรัส โลหะโซเดียม โปรตัสเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น เพราะสารพวกนี้สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เกิดความร้อนลุกไหม้ ได้ อีกอย่างถ้าเป็นการลุกไหม้จากกำมะถัน เขม่าควันที่ผนังจะไม่เป็นสีดำแต่จะเป็นสีเหลือง และถ้าไฟจะลุกไหม้ได้ต้องมี 3 สิ่ง คือ 1. เชื้อเพลิง 2. อากาศ (ออกซิเจน) 3.ความร้อน ที่สูงถึงจุดวาบไฟของเชื้อเพลิงนั้นๆ ถ้ากำมะถัน 205 c และ ถ่าน 349 c

ด้าน ดร.โอบเอื้อ อิ่มวิทยา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ โครงการเคมี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การเกิดไฟลุกไหม้สิ่งของได้เองภายในบ้านเรือนทั้งในจังหวัดพัทลุงและกำแพงเพชร ยังเป็นปริศนาที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ต้องค้นหาคำตอบที่แท้จริงว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์หรือเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นเอง ที่เรียกว่า การเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเอง (spontaneous combustion) หากเกิดจากกรณีนี้จะสามารถอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้คือ วัสดุที่สามารถจุดติดไฟที่อุณหภูมิไม่สูงมาก (เช่น ฟาง, น้ำมันลินสีด (linseed oil), ถ่าน, แร่ไพไรต์ (pyrite, iron pyrite หรือ iron sulfide (FeS2)) , ถั่วพิสตาชิโอ (Pistachio nuts), และกองมูลสัตว์ เป็นต้น) ปลดปล่อยความร้อนที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย (เช่น การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation) กับความชื้น อากาศ หรือสารเคมี, และการหมักที่เกิดขึ้นโดยแบคทีเรีย) เมื่อความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาถูกสะสมไว้ จนมีอุณหภูมิถึงระดับหนึ่งที่เกินอุณหภูมิจุดติดไฟของวัสดุ ประกอบกับมีออกซิเจนที่ช่วยให้ไฟติด และเชื้อเพลิงซึ่งอาจเป็นวัสดุนั้นเอง หรือสารอื่น ก็จะทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้

นอกจากนี้ธาตุบางชนิดยังสามารถเกิดการจุดติดไฟได้เองในบรรยากาศ หรือเมื่อเปียกน้ำ เช่น ฟอสฟอรัสขาว (white phosphorus, P4) และโลหะโซเดียม (sodium, Na) เป็นต้น ในกรณีของการติดไฟได้เองของผ้าฝ้ายและลินิน อาจเป็นไปได้ว่ามีการใช้ผ้าเหล่านี้ไปทำความสะอาด ซับสารเคมี และ/หรือพวกวัสดุที่สามารถจุดติดไฟได้ เช่น พวกน้ำมันพืชประเภทที่ไม่อิ่มตัว (polyunsaturated vegetable oils) ได้แก่ น้ำมันลินสีด และน้ำมันนวดตัว เป็นต้น หลังจากนั้น สารเคมีเกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้ หรืออาจเกิดจากแบคทีเรียในผ้าจะค่อยๆย่อยสลายผ้า ซึ่งทำให้เกิดความร้อนขึ้น ถ้าความร้อนไม่ถูกระบาย อาจเนื่องจากลักษณะการวางผ้า เช่น กองผ้าไว้ หรือเก็บผ้าไว้เป็นชั้นๆ ความร้อนที่สะสมจะไปเร่งการย่อยสลายผ้าของแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้ความร้อนสะสมสูงขึ้นมากจนถึงอุณหภูมิจุดติดไฟของน้ำมันที่ปนเปื้อนผ้า ประกอบกับออกซิเจนในอากาศ และผ้าที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้เอง

ในกรณีข่าวการเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเองในจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบก้อนกำมะถันจำนวน 3 ก้อน อยู่บริเวณข้างตู้กับข้าว จึงได้เก็บไปเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม การเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเอง มีความเป็นไปได้มาจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

กำมะถัน หรือซัลเฟอร์ (Sulfur หรือ Sulphur) ซึ่งตกเป็นวัตถุต้องสงสัยในข่าวดังกล่าว เป็นธาตุอโลหะที่มีสัญลักษณ์ S และเลขอะตอม 16 ในตารางธาตุ ในธรรมชาติสามารถพบกำมะถันได้ในรูปธาตุ (S8) หรือสารประกอบซัลไฟด์ (S2-) และซัลเฟต (SO42-) กำมะถันเป็นธาตุจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต และพบในกรดอะมิโนหลายชนิดอีกด้วย มีการใช้กำมะถันในผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ปุ๋ย, ไม้ขีดไฟ, ดินปืน, ยาฆ่าแมลงและเชื้อรา เป็นต้น

โดยทั่วไป พบกำมะถันในรูปผลึกของแข็งสีเหลือง ไม่มีรสหรือกลิ่น กำมะถันจัดว่าเป็นของแข็งที่สามารถติดไฟได้ (Flammable solid) ซึ่งมีอุณหภูมิจุดติดไฟค่อนข้างต่ำ การฟุ้งกระจายของผงกำมะถันละเอียด สามารถทำให้เกิดการระเบิดได้ ถ้ามีการเกิดประกายไฟขึ้น นอกจากนี้ กำมะถันที่อยู่ในรูปของสารประกอบกับโลหะบางชนิด สามารถเกิดปฏิกิริยาได้เองให้ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (hydrogen sulfide, H2S) ซึ่งเป็นก๊าซพิษ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ