รมว.ศธ.พบปะผู้บริหารและข้าราชการ สกอ.

ข่าวทั่วไป Friday September 11, 2015 15:38 —สำนักโฆษก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะผู้บริหารและข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายสุภัทร จำปาทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนผู้บริหารและข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไป เข้าร่วมรับฟังนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

นายพินิติ รตะนานุกูล และนายสุภัทร จำปาทอง ได้นำเสนอภาพรวมการจัดการอุดมศึกษาของไทยว่า สกอ.เป็น 1 ใน 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดการศึกษาภายใต้วิสัยทัศน์ "สกอ.เป็นองค์กรหลักที่ชี้นำการพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน" มีระบบบริหารในรูปองค์คณะบุคคล 2 คณะ คือ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) โดยมีคุณหญิงสุมนฑา พรหมบุญ เป็นประธาน และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน

ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 156 แห่ง แยกเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 80 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 75 แห่ง และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 สถาบัน (คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดในอาเซียนที่มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 6,801 แห่ง) ในปีการศึกษา 2556 มีจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยทุกสังกัดจำนวนทั้งสิ้น 2,116,020 คน บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐรวม 184,540 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรสายสนับสนุนจำนวน 124,095 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 67 และสายวิชาการ 60,445 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33

งบประมาณที่ สกอ.ได้รับในปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 107,477 ล้านบาท และปี 2559 ได้รับ 119,789 ล้านบาท หรือได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.46

ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี 2554-2556 ภาพรวมรายรับมีจำนวนทั้งสิ้น 24,484 ล้านบาท รายจ่าย 17,258 ล้านบาท

สกอ.ได้วาง Roadmap ขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าคือ 3 Track U. ได้แก่ 1) Research University 2) Teaching University 3) Technology University โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาลปัจจุบันคือ โครงการคุรุทายาท ที่จะดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการขับเคลื่อนหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก โครงการพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก และโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ (Technician & Technologist Scholarship : TTS) ซึ่งจะมาแทนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้ สกอ.กลับไปดูแผนและทิศทางการทำงานว่าสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ รวมถึงแผนการทำงานอื่นๆ ที่จะต้องให้เกิดการเชื่อมโยงและประสานสอดคล้องระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยด้วยกันทั้ง 3 Track นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีต้องการให้เห็นภาพว่าภายในเดือนกันยายน 2559 จะเกิด Outcome อะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นการกำหนดแผนตาม Roadmap ในระยะแรกภายในกรอบเวลาดังกล่าว ก็ต้องตอบคำถามได้ว่าจะเห็นผลอะไร เรื่องใดบ้าง และระยะต่อไปจะเห็นผลอะไรบ้าง ซึ่งอาจกำหนดไว้ในเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง (กิจแฝง) โดยเสนอแนะให้นำตารางประสานสอดคล้องเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดทำ Roadmap รวมทั้งย้ำให้เห็นความสำคัญของการสื่อสารภายในองค์กร เพื่อจะให้ทิศทางการทำงานตรงกันและเข้าใจตรงกันด้วย

ส่วนการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีนั้น ขอให้ สกอ.วางแผนและทิศทางให้ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะต้องทำให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคม และหากแผนดังกล่าวมีความชัดเจน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงแผนได้

นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาควรจะต้องคำนึงถึงแนวทางดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการลดเวลาเรียนในชั้นเรียนถึงเวลา 14.00 น. และช่วงเวลาที่เหลือจะจัดกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งผู้ปกครองกังวลว่าเมื่อลดเนื้อหาวิชาการลง แต่มหาวิทยาลัยยังคงสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเดิม เด็กจะต้องไปเร่งกวดวิชาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าเนื้อหาสาระตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ นักเรียนควรใช้เวลาเรียนอยู่ที่ 840 ชั่วโมงต่อปี หรือ 200 วันๆ ละ 5 คาบต่อวัน แต่ปัจจุบันโรงเรียนทุกแห่งเรียน 7 คาบต่อวันหรือคิดเป็น 1,400 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากเกินไป ดังนั้นแม้จะเลิกเรียนเวลาดังกล่าวก็ไม่กระทบ และหากการข้อสอบอยู่ในเนื้อหา 8 กลุ่มสาระก็ไม่กระทบเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อมีข้อกังวลของผู้ปกครองเกิดขึ้น สกอ.ก็ต้องมาทบทวนว่าการสอบเข้าเรียนต่อในแต่ละระดับคือ ม.1 ม.4 และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องปรับเนื้อหาข้อสอบหรือจะต้องให้เหตุผลที่เหมาะสมว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยต้องออกข้อสอบในรูปแบบดังกล่าว เพื่อให้เด็กเข้าใจและได้เตรียมความพร้อมเพื่อลดปัญหาการกวดวิชาลง ดังนั้น สกอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้ระบบการรับนักศึกษาจะไม่ใช้เนื้อหาสอบที่เน้นเฉพาะวิชาการเป็นหลักเท่านั้น

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในประเด็นการลดเวลาเรียนในชั้นเรียนว่า จะหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่าเมื่อมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยปรับลดเวลาเรียน ทปอ.จะช่วยพิจารณาปรับปรุงการสอบอย่างไร ให้สอดคล้องกับเพื่อให้บรรลุภารกิจในการปฏิรูปการศึกษา และเพื่อคลายความทุกข์ของผู้ปกครอง

ส่วนโครงการคุรุทายาทนั้น ซึ่ง สกอ.เป็นฝ่ายผลิต ก็จะต้องคิดถึงผู้ใช้ คือ สพฐ.ด้วย จึงควรจะต้อง Mapping แผนดำเนินการให้ดี เช่นเดียวกับโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่จะต้องทำงานข้ามแท่งกับ สอศ.ด้วย ทั้งสองโครงการถือเป็นตัวอย่างที่ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการเห็นการทำงานข้ามแท่งกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเด็นการปรับโครงสร้างกระทรวงนั้น ยังไม่มีการเดินหน้าพูดคุยหารือในวันนี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ