ร.ฟ.ท. จัดงานวันบุรฉัตร น้อมรำลึกพระบิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่

ข่าวทั่วไป Monday September 14, 2015 14:36 —สำนักโฆษก

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีวางพวงดอกไม้ ที่พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เนื่องในวันบุรฉัตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 ณ บริเวณลานพระอนุสาวรีย์ฯ หน้าตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

วันที่ 14 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง (พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร) พระราชโอรสองค์ที่ 35 แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด

พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2424 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ระหว่าง พ.ศ. 2460 - 2469 พระองค์ได้ทรงวางรากฐานกิจการรถไฟให้เจริญรุดหน้าในหลายด้าน โดยได้ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดีอย่างรวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและระบบโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่ โดยเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข ทรงเป็นผู้ริเริ่ม ทรงวางแผน และดำเนินการนำรถจักรดีเซลมาใช้งานแทนรถจักรไอน้ำ โดยในปี 2471 จึงได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลกำลัง 180 แรงม้า จำนวน 2 คัน มาใช้เป็นรุ่นแรกในประเทศไทยและเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัท สวิส โลโคโม ทีฟ แอนด์ แมชชีน เวอร์ค แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยกรมรถไฟในสมัยนั้นได้นำมาใช้เป็นรถสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นบริเวณรอบกรุงเทพฯ นับว่าพระดำริของพระองค์ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์มหาศาลในกาลต่อมา เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระองค์ท่าน บรรดารถจักรดีเซลไฟฟ้าทุกคันจึงได้รับขนานนามว่า "บุรฉัตร" พร้อมทั้งติดแผ่นวงกลมจารึกพระนามบุรฉัตรประกอบด้วยเครื่องหมายประจำพระองค์ไว้ทุกคัน

พระกรณียกิจและพรดำริของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการรถไฟและบังเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนไทยอย่างมหาศาล อาทิ การจัดให้มีพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ พ.ศ. 2465 ให้เป็นมาตรฐานสากล อันเป็นพระราชบัญญัติควบคุมคุ้มครองทางการรถไฟ ทางหลวง รถไฟเอกชนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการ และรถไฟอุตสาหกรรม ให้มาขึ้นอยู่กับสภากรรมการรถไฟเพื่อเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศให้มีระเบียบยิ่งขึ้น

การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือ ก่อนที่กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินจะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงมีการเปิดเส้นทางเดินรถไฟถึงสถานีปากพง และกำลังดำเนินการตรงช่วงถ้ำขุนตาน พระองค์มาดำเนินการต่อ โดยทรงซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างสถานีรถไฟลำพูนและสถานีเชียงใหม่ ทรงควบคุมการวางรางสร้างทางรถไฟจากถ้ำขุนตานไปจนถึงสถานีเชียงใหม่ และเปิดการรถเดินตลอดทางสายเหนือจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2464

อุโมงค์ขุนตานเรื่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม โดยเริ่มดำเนินการสร้างในปี 2461 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 11 ปี สะพานทาชมพู สร้างขึ้นเมื่อปี 2462 เป็นสะพานโค้งทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ที่ กม. 690 ในเส้นทางสายเหนือระหว่างสถานีขุนตานกับสถานีทาชมภู ในเขต อ.แม่ทา จ.ลำพูน ซึ่งการก่อสร้างสะพานทาชมภูแห่งนี้ เป็นงานที่ท้าทายความเป็นวิศวกรของนายพลเอกกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระยศในขณะนั้น) เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยปกติสะพานรถไฟจะสร้างขึ้นจากเหล็กเท่านี่น เพราะต้องรับแรงสั่นสะเทือนมาก คอนกรีตจะไม่สามารถอ่อนตัวได้เท่า แต่เนื่องจากสภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถสั่งเหล็กจากยุโรปเข้ามาได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันมากว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วสะพานก็คงจะพังใน 3 - 6 เดือน แต่ด้วยการคำนวณและควบคุมงานอย่างยอดเยี่ยมของพระองค์ฯ สะพานทาชมภูจึงยังคงยืนหยัดอวดความสง่างามมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้

การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะแรกทำการเดินรถจากสถานีกรุงเทพถึงนครราชสีมาเท่านั้นจ เมื่อกรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง พระองค์ได้ขยายเส้นทางเดินรถไฟจาก จ.นครราชสีมาไปถึง จ.อุบลราชธานี ทรงเริ่มดำเนินการในปี 2462 โดยทำการวางรางเป็นระยะ ๆ และเปิดทำการเดินรถเป็นช่วง ๆ เส้นทางเดินรถไฟนี้เสร็จสมบูรณ์สามารถเดินทางไปถึง อ.วารืนชำราบ จ.อุบลราชธานีในปี 2473

การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออก ทรงทำการขยายเส้นทางเดินรถสายนี้จากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ โดยเริ่มสร้างทางรถไฟต่อจากตอนที่ทำมาแล้วถึง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ปี 2462 และเสร็จสมบูรณ์สามารถเดินรถถึงอรัญประเทศได้ในปี 2469

นอกจากการขยายกิจการรถไฟแล้ว ยังทรงมีคุณูปการต่อกิจการอื่น ๆ ในประเทศสยาม อาทิ กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการทหารช่สง กิจการออมสิน กิจการโรงแรมรถไฟ กิจการด้านการประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยว รวมทั้ง ทรงสร้างสะพานลอยข้ามทางรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย คือ สะพานกษัตริย์ศึกที่ยศเส เพื่อเป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟต้นแบบ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและความสะดวกของการจราจร

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจและพระดำริที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ทางราชการได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน ของทุกปี เป็นวันบุรฉัตร

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ