การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2015 15:43 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำแนกเป็น ๑๑ ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักสำคัญ ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) แนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความต้องการของประชาชน เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สังคมปรารถนา

หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยในสังคมที่อารยะ การยึดหลักนิติธรรมคือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตัวบุคคลหรืออำเภอใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองเป็นสาระสำคัญ หลักนิติธรรมจะเป็นที่ยอมรับนับถือได้มิใช่เพียง การมีกฎหมาย หากกฎหมายเหล่านั้นต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน มีความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการยุติธรรมที่เข้าถึงได้ง่าย มีมาตรฐานตามหลักสากล และทันสมัยด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งและการโกรธแค้นชิงชังไม่มีที่สิ้นสุด รัฐบาล จึงมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวดังนี้

  • เร่งรัดปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักของประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การประกอบธุรกิจหรือไม่เอื้อต่อศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยจะใช้กลไกของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่และระดมผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจเป็นผู้เร่งดำเนินการ
  • จัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ
  • นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีทุกขั้นตอน ให้รวดเร็ว เป็นธรรม และมีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน
  • ปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยให้เข้าถึงความเป็นธรรมโดยง่าย รวดเร็ว ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและผู้ด้อยโอกาส คุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ และเยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม เน้นความสุจริตและความมีประสิทธิภาพของภาครัฐ ความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบ และการไม่แอบอ้างฉวยโอกาสโดยทุจริตจากระบบการช่วยเหลือดังกล่าว
  • นำมาตรการทางการเงิน ภาษี และการป้องกันการฟอกเงินมาใช้ในการป้องกันและปราบปราม ผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แรงงานทาส การก่อการร้ายสากล ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรื่องกฎหมายนี้ไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า “รัฐต้องมีกฎหมายเป็นฐานรองรับหรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ไม่ใช่บริหารไปตามอำเภอใจหรือตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ”

เมื่อรัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินมาได้เป็นระยะเวลากว่า ๑ ปี ได้ดำเนินนโยบายด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า ๑๔๖ ฉบับ โดยเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว จำนวน ๑๒๙ ฉบับ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เตรียมนำเสนอเข้าสู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกหลายฉบับ โดยกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกฎหมายที่เตรียมนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย

กลุ่มที่ ๑ กลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความเหลื่อมล้ำของประชาชน

กลุ่มที่ ๒ กลุ่มกฎหมายที่ต้องอนุวัติตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ

          กลุ่มที่ ๓          กลุ่มกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศ
          กลุ่มที่ ๔          กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาภายในองค์กร
          กลุ่มที่ ๕          กลุ่มกฎหมายในลักษณะอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกาซึ่งไม่ต้องอาศัยกระบวนการ ทางสภาอีกหลายฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่งต้องทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ ในกระทรวงทุก ๕ ปี โดยกำหนดให้รัฐมนตรีที่รักษาการณ์ตามกฎหมายและเป็นเจ้ากระทรวงมีหน้าที่ ต้องทบทวนกฎหมายทุก ๕ ปี ว่าควรมีต่อไปหรือควรยกเลิก และต้องดำเนินการแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษากลางของอาเซียน เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้มีโอกาสรับรู้และมีศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสารและการทำความเข้าใจระหว่างกันต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ