ศธ.หารือกับคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ สนช.

ข่าวทั่วไป Tuesday September 22, 2015 14:12 —สำนักโฆษก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง 5 องค์กรหลัก ให้การต้อนรับและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ เลขานุการฯ และคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังการหารือว่า สนช.ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศไทย 4 ประการ คือ 1) การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาให้เป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์ 2) การปรับปรุงหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 3) การพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชาติ 4) การปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ ได้นำเสนอประเด็นที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา อาทิ การให้ความสำคัญกับวิชาลูกเสือ เพื่อสร้างให้เด็กมีวินัย มีความสามัคคี มีความเสียสละ ซึ่งขณะนี้อาจจะถูกละเลยไปบ้าง ก็จะต้องมีหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่อไป การดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวน้อยตามจำนวนนักเรียน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาให้เติบโตขึ้นได้ ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ได้รับเงินจัดสรรมากเพราะมีนักเรียนเรียนจำนวนมากด้วยนั้น จึงอาจจะต้องมีการทบทวนเพื่อปรับงบประมาณในส่วนนี้โดยไม่เป็นการเพิ่มงบประมาณภาพรวม

ประเด็นเหล่านี้ แม้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว แต่จากการรับฟังทำให้ได้เห็นมุมมองเพิ่มเติมที่จะช่วยให้การดำเนินงานง่ายและชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามจะพยายามรับฟังจากหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะคนในกระทรวง เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นความโชคดีที่ทุกคนในกระทรวงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวฝากให้ สนช.ช่วยคิดเกี่ยวกับการบริหารงานภายในกระทรวง ซึ่งกำลังพิจารณาปรับการบริหารงานขององค์กรหลักอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีเลขาธิการฯ กำกับดูแลเพียงคนเดียวจะบริหารงานทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างไร หรือจำนวนรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละเขตที่มีจำนวนไม่เท่ากัน จะเกลี่ยหรือแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรให้มีความเหมาะสมและสามารถขับเคลื่อนงานดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ จะต้องฟังผู้รู้ซึ่งเป็นคนในกระทรวงด้วย เพื่อเป็นข้อเสนอในการปรับการบริหารงาน ซึ่งอาจจะต้องปรับลด เพิ่ม หรือยกระดับ หรือการหมุนเวียน หรืออาจจะเพียงจัดทำหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ