“พิเชฐ” ลงพื้นที่นครราชสีมา ติดตาม“โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงปุ๋ย” เผยสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีได้ถึงกว่า 20,000 ตัน

ข่าวทั่วไป Monday September 28, 2015 14:35 —สำนักโฆษก

26 กันยายน 2558 ที่ จังหวัดนครราชสีมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงปุ๋ย” ของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านทองหลาง/บ้านโนนขุย และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การดำเนินงานของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีได้ถึงกว่า 20,000 ตัน โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางฉันทรา พูนศิริ รักษาการผู้ว่าการ วว. และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรให้การต้อนรับ

นางฉันทรา พูนศิริ ชี้แจงว่า วว. จัดทำโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงปุ๋ยมาตั้งแต่ปี 2547 ตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการดูแลเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตในปัจจัยด้านปุ๋ย โดย วว. ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนาเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยอินทรีย์เคมี และการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตปุ๋ยให้กลุ่มเกษตรกรได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนกระทั่งกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้จริง โดย วว. ร่วมกับเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคนิค สถาบันราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เกษตรอำเภอทุกอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดคุณภาพสูง และทำการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในแต่ละอำเภอเป็นกลุ่มนำร่องโครงการ

“วว. ได้จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจำนวน 317 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีปริมาณการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีรวม 111,211 ตัน คิดเป็นมูลค่า 788 ล้านบาท ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง 22,242 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,378 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างในผลผลิต ในดินและแหล่งน้ำ สร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนและสังคมไทยโดยรวม” นางฉันทรา พูนศิริ กล่าว

รักษาการผู้ว่าการ วว. กล่าวอีกว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว มีการก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการผลิตปุ๋ยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในชุมชน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. นั้น จะใช้วัสดุเหลือใช้หรือเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ มูลสัตว์ แกลบ กากน้ำตาล กากมันสำปะหลัง เป็นต้น ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะให้กับท้องถิ่นและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป ขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านการใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรกรรม การจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยแบบครบวงจร การตรวจสอบและวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน พืช และปุ๋ย รวมทั้งการ ฝึกอบรมเทคนิคการผลิตปุ๋ยอย่างถูกวิธี ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. เทคโนธานี คลอง 5 จ.ปทุมธานี 12120 โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 02 577 9009 ในวันเวลาราชการ www. tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th

ข้อมูลโดย : ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 02 577 9009

ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ