กรมศุลกากรเดินหน้าประชุมหารือกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU FISHING)

ข่าวทั่วไป Saturday October 31, 2015 15:48 —สำนักโฆษก

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 เวลา 13.30 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าว ผลการดำเนินการในส่วนงานของกรมศุลกากรในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย

ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU FISHING) ณ ห้องประชุมภาสกรวงศ์ อาคาร 1 กรมศุลกากร

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า สืบเนื่องจากช่วงระหว่างวันที่ 13-23 ตุลาคม 2558 ผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ได้เดินทางมาทำการประเมินผลการดำเนินการและตรวจสอบมาตรการต่างๆ ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU FISHING) โดยมีศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและอำนวยการ

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญโดยกำหนดมาตรการที่จะต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันที (ภายในเดือนธันวาคม 2558) โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร คือ มาตรการการพัฒนาระบบติดตาม ควบคุม เผ้าระวัง และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (ความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง) รวมถึงมาตรการตรวจสอบโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (ความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมประมง)

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมศุลกากรจึงได้วางแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

  • แต่งตั้งคณะทำงาน ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พิธีการศุลกากรเฉพาะเรื่องการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 984/2558 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558
  • กำหนดประชุมร่วมระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง เพื่อจัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ตามมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (TRACEABILITY) ในวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2558 รายละเอียดของ MOU ดังกล่าวจะกำหนดมาตรการตรวจสอบเรือ การควบคุมการขนถ่าย การตรวจปล่อยสินค้า การตรวจสอบการผลิตแปรรูป และการส่งออก โดยความร่วมมือของทั้งสองกรม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำงานร่วมกัน การเก็บข้อมูลสถิติ และการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมทั้งจัดทำคู่มือระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ กรมศุลกากรได้ยกร่าง MOU ในส่วนของกรมศุลกากร

เสร็จสิ้นแล้ว โดยจะร่วมพิจารณาร่าง MOU กับกรมประมงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

  • กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทั่วประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าปลาให้ร่วมเป็นคณะทำงานในการตรวจสอบ แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
  • จัดส่งเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการศุลกากรขนาดต่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการตรวจสอบการทำการประมงผิดกฎหมายทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยให้ขึ้นตรงตามแผนปฏิบัติ

ของ ศรชล.เขต 1-3

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร จะมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยจะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ

หมายเหตุ : ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) คือ กลไกที่ใช้ในการติดตามที่มาของอาหารซึ่งเป็นผลผลิตจากสัตว์น้ำ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งในแต่ละขั้นตอนได้มีการรวบรวมข้อมูล การผลิตไว้ เช่น วัตถุดิบในการผลิต แหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูป การขนส่ง จนถึงการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ผู้บริโภค เป็นต้น กล่าวคือ เราจะสามารถทราบและระบุได้ว่า อาหารสัตว์น้ำที่อยู่ในจานบนโต๊ะอาหาร หรือปลากระป๋องที่เรากำลังจะบริโภคเป็นสัตว์น้ำที่มาจากขั้นจำหน่ายสินค้าในห้วงใด มาจากโรงงานผลิตใด จับมาจากเรื่อประมงลำใด จากแหล่งทะเลบริเวณไหน มีการจำหน่าย/ขนส่งผ่านบริษัทใด ผู้ประกอบการใดบ้างนั่นเอง

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ