“ปลัดอาทิตย์” ดัน Industry 4.0 ติดอาวุธ SMEs ไทยก้าวสู่ตลาดโลก ก.อุตฯ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการ 11 สาขา คาดเพิ่ม GDP ปี 59 อีก 3 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday November 11, 2015 14:50 —สำนักโฆษก

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบาย SMEs เป็นวาระแห่งชาติโดยมีแนวทางปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิมซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้ขยายตัวร้อยละ 1 ภายในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกันบูรณาการมาตรการช่วยเหลือทั้งช่องทางการเงิน ช่องทางการลงทุน ช่องทางการพัฒนาศักยภาพ SMEs และช่องทางการตลาด

“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางการช่วยเหลือ SMEs ในหลายมาตรการด้วยกัน แต่ช่องทางหนึ่งที่ผมมองว่าน่าจะเกิดประโยชน์ได้สูงสุด และสอดคล้องกับการพัฒนา SMEs ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ นั่นคือ การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ใช้ระบบการจัดการที่ทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะ (Skill) มากขึ้น รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการการผลิต แนวทาง Industry 4.0 จะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ และจะมีโครงการและงบประมาณตามมา

การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องเพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมและบริการจากยุคที่ 2 ไปสู่ยุคที่ 3 เพื่อหนีห่างประเทศเพื่อนบ้าน จากที่พึ่งพาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปสู่การเพิ่มฟความเข้มแข็งและสัดส่วนความเป็นเจ้าของของคนไทยมากขึ้น เพื่อพัฒนาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริมการขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมและบริการ 11 สาขา คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการขนส่งทางราง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน อุตสาหกรรมวัสดุในกลุ่ม Carbon Fiber บริการทางการศึกษา บริการทางการแพทย์ สำนักงานใหญ่ทางธุรกิจ การออกแบบดีไซน์ แฟชั่นและบันเทิง และโลจิสติกส์ ” ปลัดอาทิตย์ กล่าว

สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต จะต้องปรับสู่ Industry 4.0 ในเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยแนวทาง Industry 4.0 มีองค์ประกอบ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Robots) มาเป็นผู้ช่วยในการผลิต 2.การสร้างแบบจำลอง (Simulation) เช่น การพิมพ์แบบ 3D เสมือนจริง 3.การบูรณาการระบบต่างๆเข้าด้วยกัน (System Integration) 4.การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (Internet Of Things) ที่ทำให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ 5.การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity) 6.การประมวลและเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cloud Computing) 7.การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ Additive Manufacturing เช่น การขึ้นรูปชิ้นงานในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 8. เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ทีวี 3 มิติ เครื่องเล่นเกม 9. ข้อมูลขนาดใหญ่ ( Big data) คือชุมนุมของชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีทั้งการบันทึกและจัดเก็บ การค้นหา การแบ่งปัน และการวิเคราะห์ข้อมูล.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ