ตรวจเยี่ยมโรงเรียนใน จ.สกลนคร

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2015 15:55 —สำนักโฆษก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2558
ตรวจเยี่ยม รร.บ้านนาคำวิทยาคาร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2558 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านนาคำวิทยาคาร อำเภอเมืองสกลนคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีนายเทวรัฐ โตไทยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 พร้อมด้วยนายประสพ มาศมูล ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ความสนใจรับฟังรายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งได้สมัครเข้าร่วมโครงการนำร่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ได้เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 210 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตรวจเยี่ยมโรงเรียนท่าแร่ศึกษา

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช. ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนท่าแร่ศึกษา อำเภอเมืองสกลนคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 โดยมีนายพีระศักดิ์ เหิรเมฆ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ

รมช.ศึกษาธิการ ได้รับฟังสภาพปัญหาความต้องการของโรงเรียน ซึ่งจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 ถึง ม.6 โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีนักเรียนที่นับถือทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ แต่นักเรียนทุกคนต่างให้ความเคารพในทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับสภาพปัญหาของโรงเรียน ปัจจุบันขาดแคลนครูผู้สอนที่ตรงตามสาขาวิชาเอก โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ จึงได้เสนอขออัตรากำลังไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ระหว่างนี้ได้แก้ไขปัญหาโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาช่วยสอน

นอกจากนี้ โรงเรียนยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารโรงอาหารสำหรับนักเรียนและครู จึงขอรับการสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องการมาให้กำลังใจในการทำงานและความเสียสละของครูผู้สอนทุกท่าน ซึ่งข้อมูลและปัญหาต่างๆ ที่ได้รับฟัง จะนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ในเชิงระบบ เพราะผู้บริหารและครูในโรงเรียนเหล่านี้จะแบกรับปัญหาต่างๆ ไว้มากมาย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการพยายามจะลดภาระของครูผู้สอน เช่น การประเมินภายนอกของสถานศึกษาที่ สมศ. จะต้องไปกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในการประเมินให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและขนาดของโรงเรียนที่แตกต่างกัน และระบบการประกันคุณภาพที่ดีจะต้องดูจากสภาพจริง และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแต่ละโรงเรียน ระบบการประเมินจะต้องไม่เป็นทาสกระดาษที่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากมายอีกต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการกำหนดเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะของครูผู้สอนใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมและผูกติดกับครูที่อยู่ในห้องเรียนและทำงานมากๆ ซึ่งแนวทางที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ จะต้องสอดคล้องกับ 3 ข้อ คือ 1) การที่ครูจะต้องไม่เบียดบังเวลาสอนเด็กนักเรียน 2) ให้มีมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานทางจิตวิญญาณความเป็นครู 3) กลุ่มเป้าหมายครูแต่ละลักษณะทั้ง 3 กลุ่ม อาจมีวิธีไม่เหมือนกัน แตกต่างกันได้ และควรหลอมรวมเกณฑ์ต่างๆ ให้เหลือเกณฑ์ใหม่เพียงรูปแบบเดียว

ในส่วนของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โรงเรียนขนาดเล็กๆ อาจไม่มีงบประมาณจ้างครูต่างชาติมาช่วยสอน เพราะค่าจ้างแพง จึงอาจใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยสอน

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นเรื่องใดๆ ที่ต้องให้ส่วนกลางรับรู้ ก็ให้ส่งข้อมูลไปยังรัฐมนตรีได้โดยตรง : สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ