กระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควัน ช่วงเทศกาลลอยกระทง 2558

ข่าวทั่วไป Tuesday November 17, 2015 12:03 —สำนักโฆษก

เทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลยี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยเพื่อรำลึกถึงพระแม่คงคา จะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมกิจกรรมตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะจัดขึ้นบริเวณแม่น้ำลำคลอง ตามแนวชายฝั่งและบ่อบึงในแหล่งชุมชน การเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและรูปแบบของกิจกรรมอาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด อุบัติเหตุทางถนน อุบัติเหตุทางน้ำ อุบัติเหตุจากการจัดกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ในเทศกาล อาทิ การปล่อยโคมลอย โคมควัน พลุไฟ ประทัด และดอกไม้เพลิง โดยเฉพาะปัญหาโคมลอยและโคมควัน ในปัจจุบันการปล่อยโคมลอยและโคมควันได้พัฒนาให้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและสูงขึ้นในระดับทำการบิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อการบินและอากาศยาน

โคมลอย จะปล่อยตอนกลางคืนเรียกว่า โคมไฟ หรือโคมยี่เป็ง ใช้ความร้อนที่เกิดจากเปลวไฟเป็นตัวขับดันให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ไม่สามารถควบคุมทิศทางการลอยได้ หากลอยขึ้นไปอยู่ในระดับความสูงของเครื่องบิน เครื่องบินอาจดูดโคมลอยเข้าไป ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง สร้างความเสียหายต่อเครื่องบิน อาจเป็นเหตุให้เครื่องบินประสบอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สำหรับซากโคมที่ลอยปลิวเข้าไปในเขตการบินอาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม จะเป็นอันตรายต่อเครื่องบินได้

โคมควัน จะใช้การรมควันร้อนในการที่ทำให้โคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า ชาวบ้านเรียกว่า ว่าวควัน ประเพณีการปล่อยโคมควัน ซึ่งเป็นโคมขนาดใหญ่ที่ปล่อยในเวลากลางวัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการปล่อยโคมลอย และโคมควันในช่วงเทศกาลลอยกระทงมาโดยตลอด ในช่วงเทศกาลลอยกระทง 2558 กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการปล่อยโคมลอยและโคมควัน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการปล่อยโคมลอย และโคมควัน สรุปดังนี้

1. กระทรวงฯ ขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการปล่อยโคมควัน เนื่องจากในเวลากลางวัน มีเครื่องบินทำการบินตามปกติ

2. กระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานโคมลอย ดังนี้

  • โคมลอย กำหนดให้ตัวโคมมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ทำจากวัสดุธรรมชาติ ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงให้ทำจากกระดาษชุบเทียนขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม ระยะเวลาการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที โดยยึดติดกับตัวโคมด้วยเชือกทนไฟ เชือก หรือลวดอ่อนเบอร์ 24 (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร) จำนวน 2 เส้น ความยาวเส้นละไม่เกิน 30 เซนติเมตร และห้ามพ่วงหรือผูกติดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือสิ่งอื่นใดไปกับโคมขณะปล่อย

3. กำหนดช่วงเวลาปล่อยโคมลอย ขอความร่วมมือให้ประชาชนปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทงให้ปล่อยหลังเวลา 21.00 น. เป็นต้นไป

4. การปล่อยโคมลอย และการจุดบั้งไฟ ขอให้แจ้งข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และจำนวนการปล่อยโคมลอย และการจุดบั้งไฟให้ท่าอากาศยานหรือศูนย์ควบคุมการบินในพื้นที่ทราบล่วงหน้า 7 วัน ก่อนการปล่อยจริง และต้องมีผู้ประสานงานระหว่างการปล่อย โดยให้แจ้งข้อมูลมายังท่าอากาศยานทุกครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการออกประกาศแจ้งเตือนนักบิน (NOTAM : Notice To Airmen) ให้หลีกเลี่ยงการใช้ห้วงอากาศ บริเวณที่มีการกระทำดังกล่าวเท่านั้น หามิใช่เป็นการขออนุญาตกระทำการแต่อย่างใดหรือสามารถแจ้งรายละเอียดข้อมูลการปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟได้ที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0 2286 092202287 0320-9 ต่อ 2852 หรือ 0 2285 9355 โทรสาร 0 2287 4060 นอกเวลาราชการหรือวันหยุด ส่งให้ NOTAM Office (NOF) โทรศัพท์ 0 2285 98320 2287 8202 หรือโทรสาร 0 2286 4695 และ 0 2287 8205

5. ขอความร่วมมือหน่วยงานฝ่ายปกครองพิจารณากำหนดมาตรการ เพื่อควบคุมวัสดุที่ใช้ในการผลิตโคมลอย และบั้งไฟให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งให้จัดพิมพ์คำแนะนำ คำเตือน ตลอดจนชื่อผู้ผลิตบนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายด้วย

6. การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 8 ผู้ใดทำลายหรือกระทำความเสียหายแก่เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ หรือกระทำโดยวิธีใด ๆ แก่การปฏิบัติของเครื่องอำนวยความสะดวกนั้น ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 - 30,000 บาท

7. มาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่

1) กรมการขนส่งทางบก

  • สำนักงานขนส่งจังหวัด ประชาสัมพันธ์การห้ามจุดและปล่อยโคมลอย โคมควัน พลุ ประทัด หรือวัตถุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานที่ราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  • สำนักงานขนส่งจังหวัด กำชับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานที่ราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบ ตรวจตราเหตุการณ์บริเวณโดยรอบตลอด 24 ชั่วโมง

2) กรมท่าอากาศยาน

  • กระทรวงฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายต่อการบินและอากาศยานจากกรณีการจุดบั้งไฟ ระหว่างกระทรวงฯ กับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม
  • กรมท่าอากาศยาน ร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประชาสัมพันธ์ด้วยการบรรยายให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากการจุดบั้งไฟที่มีต่อการบิน รวมทั้งการออกสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เท่าที่ทำได้
  • การเตรียมนำกฎหมายควบคุมมาบังคับใช้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. การเดินอากาศ (ฉบับที่....) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่....) พ.ศ. .... (ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย)
  • มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการจุดบั้งไฟจำนวนมากกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กวดขันและกำชับประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังและแจ้งการจุดบั้งไฟเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การบิน
  • ให้ท่าอากาศยานประสานกับตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครอง รวมทั้งหอบังคับการบินในพื้นที่เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากโคมลอย โคมควัน หรือวัสดุอย่างอื่นที่ปล่อยขึ้นไปในอากาศ

3) กรมทางหลวง

  • ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจและตระหนักถึงอันตราย พร้อมทั้งบทลงโทษทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครองที่เกิดจากการจุดดอกไม้เพลิง การยิงปืนขึ้นฟ้าโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
  • ป้องกันและรักษาความปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด สนับสนุนการปฏิบัติในการตรวจสอบหรือจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการจุดพลุ ดอกไม้เพลิงฯตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 รวมทั้งพิจารณากำหนดพื้นที่ที่ไม่สมควรจุดดอกไม้เพลิง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) กรมทางหลวงชนบท

  • จัดเจ้าหน้าที่ประจำถนนและสะพาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เพื่อเฝ้าระวัง ห้ามปรามผู้ที่จะปล่อยโคมลอยและโคมควัน หากบุคคลใดฝ่าฝืนไม่ให้ความร่วมมือจะบันทึกภาพ เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการลงโทษต่อไป
  • ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เครือข่ายอาสาจากลูกข่ายศูนย์วิษณุ (รถแท็กซี่ รถกู้ภัยส่วนบุคคล) และอาสาสมัครทางหลวงชนบท (อส.ทช.) เพื่อเฝ้าระวัง

5) การรถไฟแห่งประเทศไทย

กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาระดับสารวัตร กำหนดมาตรการการป้องกันสถานีที่อยู่ติดกับแหล่งท่องเที่ยว ในกรณีที่อาจมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมควันที่อาจตกในสถานที่ทำการ ทางรถไฟ และบนขบวนรถไฟ เพื่อป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสาร พนักงาน หรือทรัพย์สินของทางราชการ

6) การท่าเรือแห่งประเทศไทย

  • จัดเตรียมอุปกรณ์และพนักงานดับเพลิงเพื่อให้สามารถเข้าระงับเหตุเมื่อเกิดเพลิงไหม้จากการจุดประทัด พลุไฟ โคมลอย โคมควันของชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบท่าเรือได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
  • จัดพนักงานดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดับเพลิงเบื้องต้น ออกตรวจบริเวณหน้าท่าเรือ และพื้นที่อื่น ๆ ภายในท่าเรือ

7) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

  • ประชาสัมพันธ์อันตรายจากอัคคีภัย และความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทางอากาศเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและโคมควัน
  • จัดเจ้าหน้าที่ดูแล เตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ทุกสถานี ในกรณีที่อาจมีโคมลอยมาตกในบริเวณแนวพื้นที่ก่อสร้าง
  • ห้ามพนักงานของโครงการปล่อยโคมลอยและโคมควันโดยเด็ดขาด
  • ให้พนักงานสอดส่องดูแลกรณีประชาชนปล่อยโคมลอยในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้าง

8) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

  • การยกเลิกเที่ยวบินหลังเวลา 18.00 น. เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24 – 27 พฤศจิกายน 2558 เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีการปล่อยโคมลอย และเพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องบิน
  • การกำหนดเวลาปล่อยโคมลอย ท่าอากาศยานต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องบินไม่ชนโคมลอย
  • จัดเวรยามพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิงเฝ้าระวังอันตรายต่อทรัพย์สินของ บกท. จากโคมลอยที่ร่วงหล่น
  • การรณรงค์ให้ใช้โคมลอยตามมาตรฐานเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อเครื่องบินโดยจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่เป็น Info graphic โดยในปี 2558 นี้จะใช้ Application เพื่อเป็นสื่อกลางการติดต่อ
  • ประสานกับนักบินและบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อย่างใกล้ชิดเพิ่มความระมัดระวังและติดตามการแจ้งเตือนการปล่อยโคมลอยหรือบอลลูน
  • สื่อสารให้สาธารณะชนทราบถึงอันตรายในการปล่อยโคมลอยโดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์

9) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งดูแลรับผิดชอบท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ได้ขอความร่วมมือจากชุมชนและประชาชนโดยรอบท่าอากาศยานที่มีความจำเป็นต้องปล่อยโคมลอยตามประเพณี ให้ปล่อยโคมลอยในช่วงเวลาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบิน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ประชุมร่วมกับสายการบิน ขอความร่วมมือสายการบินพิจารณาจัดตารางการบินให้เหมาะสมในช่วงเทศกาลดังกล่าว และท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้แจ้งสายการบิน จำนวน 25 สายการบิน ทราบเกี่ยวกับอันตรายของโคมลอย และขอความร่วมมือเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบินให้เป็นก่อนเวลา 18.00 น. ระหว่างวันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2558

  • ออกหนังสือขอความร่วมมือถึงจังหวัดใกล้เคียงท่าอากาศยาน สถานีวิทยุกระจายเสียง โรงแรม และร้านอาหารที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ในเขต ให้ช่วยประชาสัมพันธ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยและมาตรฐานของโคมลอยที่ถูกต้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.808/52 และขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนทราบ และให้ชุมชนแจ้งท่าอากาศยานทุกครั้งที่จะปล่อยโคมลอย เพื่อท่าอากาศยานจะดำเนินการออกประกาศนักบินต่อไป
  • ทำป้ายไวนิลเพื่อติดบริเวณท่าอากาศยานและหน้าหน่วยงานราชการ ขนาด 1X2 เมตร จำนวน 20 ป้าย และขนาด 2X8 เมตร
  • ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยในวารสารสนามบิน และแจกให้หน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานของ ทอท.
  • ออกประกาศนักบิน (NOTAM) เพื่อแจ้งเตือนในช่วงเทศกาลลอยกระทงจะมีการปล่อยโคมลอย
  • ในกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งขออนุญาตปล่อยโคมลอย ทอท. จะดำเนินการประสานกับผู้รับผิดชอบสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบพิกัดของสถานที่ปล่อยโคมลอย ขนาดของโคมลอย วัสดุที่ใช้ประดิษฐ์โคมลอย ชื่อผู้รับผิดชอบ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และแจ้งวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินอากาศในเบื้องต้น โดยให้ติดต่อหอบังคับการบินทุกครั้งที่จะปล่อยโคมลอย

10) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

  • จัดทำแผนที่กำหนดพื้นที่โซนนิ่งตามแนวขึ้น – ลงของอากาศยานบริเวณโดยรอบสนามบินจังหวัดที่จัดงานและนิยมปล่อยโคมลอย/โคนควัน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย และแม่ฮ่องสอน โดยพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมแนวร่อนของท่าอากาศยาน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำประกาศขอความร่วมมือประชาชนห้ามปล่อยโคมลอยและโคมควันของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
  • ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือจากประชาชนโดยรอบสนามบิน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายจากการปล่อยโคมลอยและโคมควันในเขตพื้นที่โซนนิ่ง พื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังเป็นพิเศษบริเวณโดยรอบสนามบิน
  • การเฝ้าระวังและออกประกาศแจ้งเตือนนักบินให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงทำการบินในช่วงเวลาการปล่อยโคมลอยและโคมควัน

11) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

  • เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบ เฝ้าระวังโคมลอย และโคมควันหากพบเห็นโคมลอยและโคมควันที่อาจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้า ให้แจ้งผู้เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามคู่มือการจัดการเหตุการณ์
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ อาทิ ตู้ดับเพลิง ถังดับเพลิง ระบบการแจ้งเตือนให้สามารถพร้อมใช้งาน
  • ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบเกี่ยวกับวัตถุต้องห้ามที่ไม่สามารถนำเข้ามาในระบบรถไฟฟ้า
"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา, ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ