คำปราศรัยของผู้นำประเทศใน Leaders' Forum

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 15:47 —สำนักโฆษก

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมประชุม Leaders' Forum ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ผู้นำหลายประเทศได้กล่าวคำปราศรัยในหัวข้อ “บทบาทการเฉลิมฉลอง 70 ปี ขององค์การยูเนสโก ในการดำเนินงานด้านพหุภาคี และการดำเนินงานภายหลังปี 2015 ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีผู้นำมาพูดในโอกาสครบรอบ 70 ปีองค์การยูเนสโก

1) ประธานาธิบดีบัลแกเรีย ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตูการณ์ก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่13 และเห็นว่ายูเนสโกจะต้องเป็นองค์กรนำในการสร้างสันติภาพ ให้สอดคล้องกับปรัชญาการก่อตั้งองค์กร building peace in the mind of men นอกจากนี้ยูเนสโกจะต้องดำเนินการปกป้องและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อความรุนแรงในที่ต่างๆผู้คนต้องรู้จักเคารพในความแตกต่าง สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ทำให้กับคนรุ่นหลัง

2) ประธานาธิบดีแคมารูน กล่าวแสดงความยินดีที่ยูเนสโกครบรอบ 70 ปี และเห็นว่าปัจจุบันแอฟริกาได้มีบทบาทมากขึ้นและแอฟริกาได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกมาโดยตลอดทั้งด้านมนุษยธรรม และการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม ปัจจุบันแคมารูนยังคงได้รับผลกระทบจากการสู้รบการก่อการร้ายอยู่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องน่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและเห็นว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่ยูเนสโกจะต้องให้การสนับสนุนด้วย

3) ประธานาธิบดีมาเซโดเนีย กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของยูเนสโกและเห็นว่าต่อไปยูเนสโกจะต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมประณามการก่อการร้ายกลางกรุงปารีสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าทุกคนต้องร่วมกันต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะที่ทำลายมรดกทางวัฒนธรรม ยูเนสโกจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมไม่ให้ถูกทำลายเพราะมรดกทางวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่รักษาไว้ให้ตกทอดกับคนรุ่นต่อๆไป

4) ผู้นำลิเบีย ขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและลิเบียยินดีร่วมมือกับลิเบียในเรื่องนี้ขอให้องค์การสหประชาชาติยกเลิกการห้ามค้าอาวุธเพื่อที่จะให้มีกองกำลังที่เข้มแข็งในการต่อต้านการก่อการร้ายและหวังว่าลิเบียจะมีความสงบในเร็ววัน

5) ประธานาธิบดีลิธัวเนีย เห็นว่าทุกประเทศควรต้องร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย ยินดีในโอกาสครบรอบ 70 ปี ขององค์การและเห็นว่าที่ผ่านมาองค์การได้ดำเนินการเรื่องที่สำคัญมาด้วยดีเช่นการศึกษา ซึ่งยูเนสโกควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ให้เสรีภาพในความคิดมากขึ้นประชาชนควรมีอิสระในการรับข่าวสาร มีการปกป้องการแสดงความคิดเห็นของสื่อ

6) รัฐมนตรีทรัพยากรมนุษย์ของอินเดีย ประณามการก่อความรุนแรงในปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ให้ความสำคัญในการสร้างสันติภาพผ่านการให้ความรู้หรือการศึกษาโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงและสตรีได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ให้ความสำคัญกับการวิจัยต่างๆเพื่อนำไปสู่การพัฒนาซึ่งจะช่วยให้เกิดสันติภาพ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีผู้นำ 4 ประเทศ มาพูดในโอกาสครบรอบ 70 ปีองค์การยูเนสโก ดังนี้

1) ผู้นำจากมอลต้า กล่าวประณามการกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่13พ.ย. และกล่าวว่าขณะนี้ทุกประเทศกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่ประเทศต่างๆจะต้องร่วมกันหาหนทางไปสู่สันติภาพ ยูเนสโกจะต้องมีบทบาทนำในการเป็นแชมเปี้ยนในเรื่องการปกป้องวัฒนธรรม รวมถึงยูเนสโกจะต้องช่วยผลักดันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม นอกจากเรื่องวัฒนธรรมแล้ว ยูเนสโกจะต้องเป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาเพราะการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะกำจัดต้นกำเนิดของปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

2) ผู้นำจากสโลวาเนีย ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ก่อการถือเป็นผู้ที่ไม่มีศาสนา แต่กลับเป็นผู้ที่บิดเบือนศาสนา ดังนั้น ยูเนสโกจะต้องคงการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเมื่อคราวก่อตั้งองค์การคือ จะต้องสร้างสันติภาพผ่านกระบวนการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งนี้ จะต้องมุ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางความคิด เน้นการเคารพความแตกต่างและส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

3) ผู้นำอาเซอร์ไบจัน ได้กล่าวว่าประเทศของตนเป็นประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพรัสเซียเดิม ถือเป็นประเทศใหม่ แต่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาต่างๆของยูเนสโกเกือบทุกฉบับ สิ่งสำคัญที่อาเซอร์ไบจันให้ความสำคัญมี 2 เรื่อง คือ การต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และการเสวนาข้ามวัฒนธรรม และจากการที่อาเซอร์ไบจันต้องรับภาระเรื่องผู้อพยพจากอาร์เมเนีย จึงทำให้เข้าใจสภาพของหลายประเทศที่จะต้องเผชิญกับการรับผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดี อาเซอร์ไบจันเป็นประเทศที่ถือเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรม จึงให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมหลายอย่างถูกทำลายจากอาร์เมเนีย ซึ่งเห็นว่าอาร์เมเนียละเมิดมติของสหประชาชาติที่เข้ามาทำลายแหล่งวัฒนธรรมต่างๆของอาเซอร์ไบจัน นอกจากนี้อาเซอร์ไบจันให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเคารพในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและมีบทบาทที่เข้มแข็งในเรื่องการเสวนาข้ามวัฒนธรรม

4) เอกอัครราชทูตถาวรสหรัฐอเมริกา ได้อ่านสารของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สรุปได้ว่า สหรัฐฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งความสูญเสียต่างๆ ถือเป็นความสูญเสียของคนทั่วโลกในเหตุการณ์ดังกล่าวมีนักศึกษาสหรัฐฯ เสียชีวิตด้วย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงขอร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน

5) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เป็นผู้นำคนสุดท้ายที่ขึ้นกล่าวใน Leaders' Forum ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างท่วมท้นจากผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ และผู้นำฝรั่งเศสได้กล่าวขอบคุณกำลังใจจากประเทศต่างๆและกล่าวเน้นถึงความเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและส่งเสริมการแสดงออกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติการก่อการร้ายมุ่งทำลายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อการร้ายในสถานที่ที่เป็นการแสดงออกซึ่งวิถีชีวิตของชาวฝรั่งเศสคือภัตตาคาร สถานที่จัดงานคอนเสิร์ต สนามฟุตบอล แต่ฝรั่งเศสได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งที่จะไม่ให้ผู้ใดมากระทำการทำลายวิถีชีวิตของคน โดย ณ วันนี้สถานการณ์ต่างๆกลับมาสู่สภาพปกติแล้ว การที่ยูเนสโกถือกำเนิดในกรุงปารีสนับเป็นสถานที่ที่ถูกต้องที่สุดเพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีความหลากหลายและมีเสรีภาพ ฝรั่งเศสจะทำการปกป้องวัฒนธรรมอย่างสุดความสามารถและขอต่อต้านการลักลอบขนย้ายสมบัติทางวัฒนธรรม

ข้อมูล : สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

นงศิลินี โมสิกะ

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ