รมว.พม. เร่งให้หามาตรการระยะยาวป้องกันการขอทานซ้ำ หลังพบขอทาน ๓๙๙ ราย จากการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศตั้งแต่ ๑๖–๒๐ พ.ย.๕๘ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เร่งเยียวยาฟื้นฟูผู้สภาพจิตใจประสบปัญหาทางสังคม ที่ จ.ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 2015 15:09 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒๓ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๔๕ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๘๘/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ครั้งที่ ๖ หรือครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๖–๒๐ พ.ย.๕๘ ที่ผ่านมา พบขอทานจำนวนทั้งสิ้น ๓๙๙ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๒๕๘ ราย ขอทานต่างด้าว ๑๔๑ ราย โดยเป็นชาวกัมพูชา ๑๒๒ ราย พม่า ๑๔ ราย จีน ๔ ราย และเวียดนาม ๑ ราย ซึ่งจังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ๖๗ ราย ชลบุรี ๓๐ ราย และสมุทรปราการ ๒๘ ราย ทั้งนี้ สำหรับการจัดระเบียบขอทานตั้งแต่เดือน ต.ค.๕๗ ถึง พ.ย. ๕๘ พบขอทานจำนวนทั้งสิ้น ๓,๖๐๔ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๒,๓๙๔ ราย ขอทานต่างด้าว ๑,๒๑๐ ราย โดยจากขอทานทั้งหมดพบว่าเป็นขอทานที่เป็นเด็กจำนวนทั้งสิ้น ๓๔๒ ราย และเป็นขอทานผู้พิการจำนวนทั้งสิ้น ๒๕๒ ราย ซึ่งพบ ๓ สาเหตุใหญ่ของการเป็นขอทาน คือ๑.ความยากจน ๒.ทำเป็นอาชีพหลัก และ ๓.มีปัญหาครอบครัว อย่างไรก็ตาม ตนยังเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดระเบียบขอทานอย่างต่อเนื่องและครบวงจร พร้อมหาแนวทางแก้ไขในระยะยาว เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นขอทานซ้ำอีก

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีกลุ่มพลเมืองดีบุกเข้าช่วยผู้เสียหายเป็นวัยรุ่นสาว อายุ ๑๙ ปี ที่เคราะห์ร้ายถูกชาย ๕ คน มอมสุราจนเมาไม่ได้สติ ก่อนร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราในแมนชั่นแห่งหนึ่งกลางเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี (พมจ.ชลบุรี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและ ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจหญิงสาวและครอบครัวโดยด่วน และกรณีพ่ออายุ ๕๑ ปี จับลูกชายอายุ ๒๕ ปี ที่พิการเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กรอกยาพิษ แต่รอดชีวิตมาได้ มีอาการสาหัส จากนั้นจึงผูกคอฆ่าตัวตายตาม สาเหตุเกิดจากความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่ไม่เพียงพอ เป็นภาระให้ภรรยาและ ลูกสาวคนเล็ก ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวโดยด่วน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของลูกชายที่ป่วยในระยะยาวต่อไป

"สำหรับกรณีหญิง อายุ ๔๓ ปี เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจ โดยรับสารภาพว่าลงมือฆ่าสามีตนเอง อายุ ๔๒ ปี ภายหลังอดทนรองรับอารมณ์มานาน ทั้งติดสุรา เซ็กส์จัด ซาดิสม์ และชอบทำร้ายร่างกายเป็นประจำ บังคับให้ร่วมหลับนอน เกือบ ๑๐ ครั้งต่อวัน จึงทนไม่ไหวใช้ผ้าขาวม้ารัดคอสามีจนเสียชีวิต ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พมจ.สุราษฎร์ธานี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวโดยด่วน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ