“พิเชฐ” เผย เจรจาร่วมมือญีปุ่นฉลุย เกิดประโยชน์รอบด้าน สิ่งแวดล้อม อาหาร พลังงาน และ วทน. ครอบคลุมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2015 15:01 —สำนักโฆษก

ในการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน ของทีมงานด้านเศรษฐกิจรัฐบาล นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ 6 กระทรวง คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงไอซีที กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา โดยทีมรัฐบาลไทยได้หารือเต็มคณะอย่างเป็นทางการกับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโสะ อาเบะ รองนายกรัฐมนตรี นายทาโร อะโซ และภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศไทย

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางเข้าพบ นางสาวไอโกะ ชิมาจิริ รัฐมนตรีด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ประการ ได้แก่ 1. การจัดตั้ง Climate Change Technology Transfer Center ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ในเรื่อง Cool Earth และ Cool Japan ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเร่งฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น 2. การจัดตั้งสถาบันวิจัยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้าน ดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะใช้หน่วยงานกลางด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของญี่ปุ่น คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติ ญี่ปุ่น (National Graduate Institute for Policy Studies หรือ GRIPS) ในการให้ความช่วยเหลือ และ 3. การจัดตั้ง National Space Program โดยทำงานร่วมกันผ่านทางคณะทำงาน Overseas Space Working Group

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย ได้เข้าพบนายฮิโรชิ ฮาเซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น โดยมีสาระสำคัญ คือ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้ Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform (JASTIP) ภายในต้นปีหน้า รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านวิศวกรรมการผลิตเพื่อพัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ตลอดจนประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังได้เชิญกระทรวงศึกษาธิการฯของญี่ปุ่น ให้เข้าร่วมโครงการฟู๊ดอินโนโพลีส ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยด้วย โดยได้เสนอให้ญี่ปุ่นลงทุนจัดตั้งโรงงานต้นแบบและห้องปฏิบัติการด้านอาหารในอุทยานวิทยาศาสตร์ด้วย

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดสัมมนาฟู๊ดอินโนโพลีส เพื่อเชิญชวนบริษัทญี่ปุ่นด้านอาหารมาลงทุนวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ของโครงการ โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการดังกล่าว รวมถึงมาตรฐานการจูงใจต่างๆ เช่น การหักภาษีส่วนบุคคลสำหรับนักวิจัย การหักภาษีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ร่วมประชุมกับ INCJ (Innovation Network Corporation of Japan) ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (26 บริษัท) ให้การสนับสนุนเงิน เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ผ่านกลไกนวัตกรรมแบบเปิด

ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ