การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษา

ข่าวทั่วไป Thursday November 26, 2015 15:33 —สำนักโฆษก

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษา ปี ๒๐๓๐ (Asia-Pacific Meeting on Education 2030- APMED 2030) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่โรงแรมอนันตรา สาทร กรุงเทพ จัดโดย สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ สถาบันสถิติยูเนสโก สำนักงานยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และสำนักงานยูนิเซฟประจำเอเชียใต้

การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษา ปี ๒๐๓๐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน 2558 ถือเป็นการประชุมหารือระดับภูมิภาคครั้งแรกนับตั้งแต่ได้มีการรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 1 เป้าหมาย ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเป้าหมายที่ ๔ เป็นเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (Social Development Goals -SDG 4) หรือ Education 2030 agenda ซึ่งมีเป้าหมาย “สู่การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาขนทุกคน”ถือเป็นวาระใหม่ด้านการศึกษาที่มีความสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เนื่องจากการศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกเป้าหมายของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยปรารถนาที่จะทำงานกับยูเนสโกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าท้ายต่างๆ ด้านการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวาระการศึกษา ปี ๒๐๓๐ รัฐบาลปัจจุบันได้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนด้านการศึกษา เพราะมีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืน โดยจะขับเคลื่อนวาระการศึกษาปี ๒๐๓๐ ที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาการศึกษาของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของประชาชนทุกคน โดยปฏิรูปกระบวนการในการเรียนการสอนในทุกระดับ การผลิตและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นาย Gwang-Jo Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกกรุงเทพ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศสมาชิกในการดำเนินการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาในปี ๒๐๓๐ โดยจะมีการนำเสนอวาระใหม่ด้านการศึกษา เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ การหารือหุ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกลไกความร่วมมือ หุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบการดำเนินงาน และความต้องการของประเทศในการพัฒนาศักยภาพเพื่อดำเนินการตามกรอบปฏิบัติการการศึกษา ปี ๒๐๓๐ โดยจะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุมและแนวทาง และกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน เช่น การอพยพเพื่อตั้งถิ่นฐาน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความยากจน สิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่อาจบรรลุผลสำเร็จหากปราศจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นาย Daniel Toole ผู้อำนวยการสำนักงานยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่าสิทธิทางการศึกษาไม่ใช่แค่การเรียนในระบบโรงเรียน ต้องมีการจัดศึกษาให้กับประชาชนตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้การลงทุนด้านการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด การส่งเสริมทางด้านโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การศึกษาควรตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมเพื่อความเป็นพลเมืองโลกมีความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยูนิเซฟมีความปรารถนาที่จะส่งเสริมสิทธิของเด็กทุกคน ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดและส่งเสริมให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษา หุ้นส่วนด้านพัฒนา หน่วยงานสหประชาชาติ หน่วยงานผู้บริจาค และนักวิจัย จำนวน ๒๑๖ คน โดยประเด็นสำคัญของการประชุมหารือในครั้งนี้ คือ การหารือเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการศึกษา และบทบาท ความรับผิดชอบขององค์กรประชาสังคม หน่วยงานสหประชาชาติ และองค์การระหว่างรัฐบาล ตลอดจนการวางนโยบายด้านการศึกษา โดยวัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการศึกษาปี ๒๐๓๐ และการพิจารณาดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาในปี ๒๐๓๐

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ/ข้อมูล

กิตติกร/ภาพ

กลุ่มสา

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ