กระทรวงวิทย์ฯ เปิดบ้านศาลาดิน ห้องทดลองเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday November 30, 2015 15:15 —สำนักโฆษก

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะฯ เดินทางเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ชุมชนบ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้เข้าไปสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำ และทำงานร่วมกับชุมชน แก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่จนประสบความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงได้

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชนศาลาดิน แก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2553 โดยนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS มาใช้สำรวจข้อมูลและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยการฟื้นฟูคลอง เชื่อมต่อแหล่งน้ำ แก้ปัญหาน้ำเสียและน้ำท่วม มีการดูแลรักษาคุณภาพน้ำ ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและระดับน้ำจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ปัจจุบันคุณภาพน้ำของชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น้ำไหลเวียนอย่างเป็นระบบ สามารถระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น นับเป็นชุมชนต้นแบบของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และสามารถขยายผลสำเร็จไปยังชุมชนอื่นได้ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีชุมชนต้นแบบในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ 60 ชุมชน กระจายอยู่ทั่วประเทศ และสามารถขยายผลไปได้อีก 543 หมู่บ้าน

นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรบ้านศาลาดิน กล่าวว่า ในอดีตชุมชนบ้านศาลาดินเราอยู่ร่วมกับสายน้ำ ใช้น้ำเป็นทางสัญจรและประกอบอาชีพ ต่อมาเมื่อมีถนนตัดผ่านเข้ามาถึงหมู่บ้าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน ความสำคัญของลำคลองลดลง คลองเริ่มกลายเป็นที่ทิ้งขยะต่างๆ แถมยังมีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในการทำเกษตร ลำคลองเต็มไปด้วยผักตบชวาและขยะ สัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพน้ำเริ่มเน่าเสีย และยังมีปัญหาน้ำท่วมที่มีระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากลำคลองตื้นเขินและตัน ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. ได้เข้ามาสนับสนุนชุมชนบ้านศาลาดิน ทั้งด้านเครื่องมือ องค์ความรู้ และร่วมกันแก้ปัญหา ชุมชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้วิธีการทำแผนที่ การใช้ GPS และแผนที่วางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ชาวบ้านได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมันครัวเรือน และพัฒนากังหันเติมอากาศในน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ ได้ร่วมกับชุมชนขยายผลการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วทั้งตำบล โดยขุดลอกคลองในตำบลมหาสวัสดิ์ทุกคลอง เพื่อให้น้ำในระบบไหลเวียน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและระบายน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันเรือสามารถสัญจรได้ตลอดทุกคลองในตำบลมหาสวัสดิ์ และชาวบ้านสามารถนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคและการเกษตรได้อย่างสะดวก หมดปัญหาเรื่องผักตบชวาและน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ระบบนิเวศในลำคลองต่างๆ ดีขึ้น ลำคลองและภาพรวมของชุมชนมีความเรียบร้อยสวยงาม เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น สามารถนำมาแปรรูปสร้างรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ชุมชนยังได้แก้ปัญหาผักตบชวาได้ในระยะยาว โดยการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนและเกิดรายได้ การแก้ปัญหาครั้งนี้ยังทำให้เกิดกองทุนดูแลและจัดการน้ำและมีผลให้เกิดการดูแลรักษาคูคลองอย่างยั่งยืน

ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการของบ้านศาลาดิน คือ แปลงบัว หรือ นาบัว พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงเกษตรที่ทำรายได้มากที่สุด สามารถสร้างรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี เกษตรกรจะมีรายได้จากการตัดดอกบัวขายทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 บาท และยังมีรายได้จากปลาที่เลี้ยงในแปลงบัว ปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท รอบคันของแปลงบัวยังปลูกพืชล้มลุก พืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เตยหอม เพื่อนำไปขายเป็นรายได้รายวันอีกไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท

ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ