นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดเอสเอ็มอี อนุมัติงบประมาณปี 2559 กว่า 1,977.645 ล้านบาท เดินหน้างานบูรณาการส่งเสริมเอสเอ็มอี

ข่าวทั่วไป Thursday January 7, 2016 14:33 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดเอสเอ็มอี อนุมัติงบประมาณปี 2559 กว่า 1,977.645 ล้านบาท เดินหน้างานบูรณาการส่งเสริมเอสเอ็มอี ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ วิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเห็นชอบตั้งอนุกรรมการบริหาร สสว.-เล็งตั้งศูนย์บริการ OSS สสว.ในภูมิภาค 31 แห่ง ตั้งร้านค้าประชารัฐ 148 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมั่นจะสร้างประโยชน์สู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มทั่วประเทศให้เข้มแข็ง

วันนี้ (8 ม.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2559 โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ผู้อำนวยการ สสว.) ได้แถลงผลการประชุมที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร สรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) มีมติเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนของ สสว. จำนวน 1,977.645 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เพื่อบูรณาการงานส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศให้เติบโตได้ตามศักยภาพ โดยจัดสรรเงินกองทุนออกเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย

1. จัดสรรเงินกองทุน 437.17 ล้านบาท ให้กับ 3 กระทรวงดำเนินงาน 9 โครงการ ประกอบด้วย1) กระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2) กระทรวงพาณิชย์ งบประมาณ 187.17 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างนักการค้ามืออาชีพ โครงการกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : สร้างโอกาส เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก 3) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งบประมาณ 150 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) (2) โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะต่อเนื่อง (3) โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (4) โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

2. จัดสรรเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี โดยให้ สสว. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี และธุรกิจการเกษตรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่ง สสว. จะคัดเลือกจากลูกค้าธนาคารของรัฐ ซึ่งมีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการต่อไป หรือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปี โดยวินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุงทั้งในด้านการผลิต และการจำหน่าย และหากเอสเอ็มอีรายใด มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจต่อไป และยังมีศักยภาพเพียงพอ สสว. จะประสานงานกับเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกรณีที่เอสเอ็มอีที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม สสว. จะพิจารณาให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. เป็นเงินกู้ระยะยาว ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย

3. จัดสรรเงินกองทุน 200 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) โดยบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง ซึ่งมีศูนย์บ่มเพาะ 35 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศในทุกสาขาอาชีพ เช่น เกษตรแปรรูป ออกแบบ งานด้านวิศวกรรม ฯลฯ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการใหม่ และนักธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการใหม่ ตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการใหม่ 30,000 – 40,000 ราย

4. จัดสรรเงินกองทุน 200 ล้านบาท ดำเนินโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ทำกิจการอยู่แล้วให้เติบโตได้ยิ่งขึ้น (เอสเอ็มอี Strong/Regular) โดย สสว. จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวินิจฉัยในเชิงลึกเป็นรายกิจการและหาทางช่วยปรับปรุงการผลิต การให้บริการ และการจำหน่าย ธนาคารเอสเอ็มอี จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการปรับปรุงหรือขยายกิจการ โดยมีเป้าหมาย 10,000 ราย ภายในปี 2559

5. จัดสรรเงินกองทุน 40.475 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจร (เอสเอ็มอี One-stop Service Center : OSS) เพิ่มอีก 20แห่ง รวมเป็น 31 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนสาขาของ สสว. คือ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจแก่เอสเอ็มอี เป็นตัวกลางประสานระหว่างเอสเอ็มอีกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมจาก สสว.โดยตรงและจากหน่วยงานร่วมของ สสว. ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการติดต่อและให้ข้อมูลรวมทั้งสร้าง Net work ในเขตพื้นที่

6. จัดสรรเงินกองทุน 100 ล้านบาท ดำเนินโครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน จัดตั้งร้านค้าประชารัฐ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชนให้มีที่ขายสินค้าถาวร รวมทั้งปรับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนการสร้างร้านค้าประชารัฐ จำนวน 148 แห่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยไม่คิดค่าเช่า กรมการพัฒนาชุมชน และ สสว. ร่วมกันคัดสรรสินค้าจาก OTOP และวิสาหกิจชุมชน โดยปรับมาตรฐานและรับรองคุณภาพสินค้า รวมทั้งช่วยดูแลการบริหารจัดการของร้านค้าประชารัฐ เช่น การจัดหาบุคลากร และการขนส่งสินค้า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ชุมชนที่ส่งสินค้ามาขาย ตั้งเป้าหมายให้ชุมชนสามารถบริหารร้านค้าประชารัฐได้ด้วยตนเองภายในเวลา 3 ปี และสามารถยกระดับวิสาหกิจชุมชนขึ้นเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของ สสว. เป็นไปด้วยความคล่องตัว โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการบริหาร

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ