ก.แรงงาน เร่ง ขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงาน ผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Monday December 14, 2015 14:43 —สำนักโฆษก

ก.แรงงาน ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ เร่งบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงาน ผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุใน 7 ปีข้างหน้า รองรับสังคมไทยปรับโครงสร้างของประชากรให้อยู่ในวัยแรงงานนานที่สุด

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่าที่ประชุมรับทราบคำสั่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่ 6/2558 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ มีองค์ประกอบ 31 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานอนุกรรมการ นางสาวลัดดา ดำริการเลิศเป็นรองประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และผู้อำนวยการกองการแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ และแรงงานพิการ สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่หลักในการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และส่งเสริม สนับสนุน การจ้างงานและอาชีพผู้สูงอายุ รวมถึงติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในแนวทางการดำเนินงาน ส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพฯ

ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงวัย” มาตั้งแต่ปี 2548 สัดส่วนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และกำลังกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

ด้าน ศ.ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการศึกษาวิจัยทางประชากรศาสตร์โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และคาดประมาณการว่าประชากรกำลังสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ทำให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับโครงสร้างอายุของประชาการ เพื่อให้คนไทยยังอยู่ในวัยแรงงานให้นานที่สุด ด้วยการเปลี่ยนนิยามของผู้สูงอายุในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเวทีสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ปีพ.ศ.2558 ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “สังคมสูงวัย จะสร้างพลังอย่างไร ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเพิ่มอายุผู้สูงอายุให้สูงขึ้นเป็น 65 ปี โดยการเลื่อนอายุต้องไม่กระทบกับสวัสดิการเดิมที่เคยได้รับ และควรแยกคำนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า “ผู้สูงอายุ” และ “ผู้เกษียณอายุการทำงาน” ออกจากกัน โดยคำนึงถึงความต้องการประกอบอาชีพ ประเภทของอาชีพและความเหมาะสม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ