หารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชน-เทคโนโลยีราชมงคล

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2015 14:37 —สำนักโฆษก

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ โดยมีนางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้าร่วมหารือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

หารือกับสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย*

เมื่อเวลา 9.30 น. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับตัวแทนผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั่วประเทศ

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท.) กล่าวในนามของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนว่า มีความยินดีและมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีจุดแข็งอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ทำให้ตอบสนองนโยบายได้อย่างรวดเร็ว การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง แม้ว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศก็ตาม

ในส่วนของการจัดการเรียนการสอน ได้เตรียมการทบทวนหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับนักศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพมากขึ้น และจะเน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมุ่งเน้นผลผลิตด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดชื่อปริญญาให้มีความทันสมัยตามเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะบางชื่อปริญญาไม่มีในไทยแต่มีในต่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายที่เอื้อต่อการเปิดสถานศึกษานอกที่ตั้ง หรือการเปิดสอนบางสาขาวิชาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในต่างประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้นิยมสินค้าไทยว่าดี มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับถึงการศึกษาไทยด้วย ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สมาคมจะได้รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาของภาคเอกชนทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ช่วยสนับสนุนการศึกษาของคนไทยมาโดยตลอด และสถาบันการศึกษาเอกชนยังช่วยแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

จากการหารือร่วมกันครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า จะผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ กล่าวคือผลิตกำลังคนตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการเปิดสอนสาขาที่ซ้ำซ้อนกันด้วย

ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าสาขาที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศมีนักศึกษาเข้าเรียนน้อยลง เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ต้องการที่จะเรียนสาขาที่อยู่นอกตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่นำกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาจัดสรรให้กับนักศึกษาที่เข้าเรียนในสาขาที่ขาดแคลนก่อน เพื่อเพิ่มกำลังคนตามความต้องการของประเทศอีกทางหนึ่ง ส่วนสาขาอื่นๆ ก็จะได้รับการพิจารณาในภายหลัง

ในส่วนของการวิจัย ได้มอบให้ สกอ.พิจารณางบประมาณในการส่งเสริมฐานข้อมูล (Database) ด้านการวิจัย เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาเข้ามาใช้ประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้าเพื่อพัฒนางานวิจัยได้ พร้อมทั้งให้มีการทบทวนบทบาทและการมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เป็นคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมีส่วนร่วมจัดทำแผนการศึกษาอุดมศึกษา 15 ปีให้มากขึ้น สำหรับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่นักศึกษานั้น ขอให้เร่งดำเนินการและเน้นไปที่ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication) ซึ่งจะนำระบบการทดสอบภาษาอังกฤษก่อนจบการศึกษามาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้ช่วยควบคุมและดูแลธรรมาภิบาลในทุกสถาบันอย่างเคร่งครัด เพราะขณะนี้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอย่างไม่มีคุณภาพ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาที่ไม่เป็นจริง เป็นต้น พร้อมทั้งขอให้พิจารณารับนักศึกษาในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาชนบท (ชื่อเดิม คือ คุรุทายาท) เพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานและคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดแข็งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในเรื่องความคล่องตัวในการดำเนินการนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ขอให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยขอให้รวบรวมประเด็นปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายและด้านอื่นๆ นำมาเสนอ เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไขให้มีความเหมาะสม และช่วยให้งานของอุดมศึกษาเอกชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ส่วนหนึ่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ ที่ได้มาหารือกับรัฐมนตรี

ถ่ายภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

หารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)**

ต่อมาในเวลา 13.30 น. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือเกี่ยวกับการผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรม ร่วมกับนายสาธิต พุทธชัยยงค์ ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มทร.มีบทบาทในการผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและมีความรวดเร็ว พร้อมทั้งตอบสนองค่านิยมคนไทยที่ต้องการให้บุตรหลานมีใบปริญญาด้วย ซึ่งบัณฑิตที่จบจาก มทร.จะถูกเรียกว่า “บัณฑิตมือดำ” เพราะต้องเรียนช่างและในขณะเดียวกันก็จบระดับปริญญาตรีด้วย

ในปัจจุบัน มทร. มีจำนวน 9 แห่ง 35 วิทยาเขต ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.นนทบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.ขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จ.นครปฐม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จ.ชลบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา โดยมีแผนผลิตกำลังคนใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์, สาขาดิจิทัล, สาขาบริหารจัดการน้ำ, สาขาผลิตครูอาชีวะ และโครงการพระราชดำริ

จึงได้ขอให้ มทร.รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนการผลิตกำลังคนทั้งหมดในแต่ละสาขา เพื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถในการผลิตว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร หากกระทรวงศึกษาธิการจะขอให้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต จะต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง

ในส่วนของการเชื่อมต่อการรับผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าสู่หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปีของ มทร.นั้น ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเรื่องผู้เรียนต้องเสียเวลาในการเทียบโอนหน่วยกิตเป็นเวลานาน ทำให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะไม่มาเรียนต่อ เพราะระบบยังไม่คล่องตัวและเสียเวลามากกว่าหลักสูตรปกติ จึงต้องการที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ มทร. เพื่อปรับระบบการเทียบโอนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น จบอาชีวะแล้วศึกษาในหลักสูตรต่อเนื่องได้โดยไม่เสียเวลาเทียบโอนหน่วยกิตมากนัก ซึ่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงทั้งสองส่วนจะเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะจบระดับ ปวส.สาขาใดมา เมื่อมาเรียนในหลักสูตรต่อเนื่องก็จะต้องเรียนในสาขาเดียวกัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้สามารถนำมาใช้ได้ทันในปีการศึกษา 2559

ส่วนหนึ่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ ที่ได้มาหารือกับรัฐมนตรี

ถ่ายภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

*อรพรรณ ฤทธิ์มั่น

**นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ