6 หน่วยงาน จับมือ หนุนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” พบเด็กไทยสายตาผิดปกติ เร่งคัดกรองเด็กนักเรียนทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 21, 2015 15:26 —สำนักโฆษก

6 หน่วยงาน จับมือ สนับสนุนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ด้านสุขภาพ” ตรวจสายตาเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เผยสำรวจพบเด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติ ร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1 คาดว่า ทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคนเพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ

วันนี้ (21 ธันวาคม 2558) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมพัฒนาสุขภาพนักเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ด้านสุขภาพ” สร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน โดยมีบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คน พร้อมเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันใน 6 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือพัฒนาสุขภาพเด็กวัยเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ รร.แอมบาสเดอร์ กทม.

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ลดความเคร่งเครียดจากการเรียนเนื้อหามาเป็นกิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์ สนุกสนาน เสริมสร้างทักษะด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขร่วมสนับสนุนนโยบายนี้ โดยสั่งการให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับดำเนินการดังนี้ 1.สนับสนุนการจัดกิจกรรม “เพิ่มเวลารู้” ของสถานศึกษาในพื้นที่ 2.เตรียมเด็กวัยเรียนให้พร้อมเรียนรู้ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยร่วมกับทางโรงเรียนตรวจคัดกรองสายตา และส่งต่อแก้ไขหากพบความผิดปกติ 3.จัดกิจกรรมบนฐานของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” แต่ละช่วงวัยหรือช่วงชั้นเรียน 4.ให้ความสำคัญกับการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ภาระโรค และปัจจัยเสี่ยง เน้นก่อให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ ทักษะการมีสุขภาพและชีวิตที่ดี สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ ดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ปัญหาสุขภาพ และต้นทุนทางสังคมในพื้นที่

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเด็กไทยพบปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับที่เด็กใช้สายตาผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลมากขึ้น การรับแสงและการเพ่งมองจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาเมื่อยล้า หรืออาจทำให้จอตาเสื่อมไวขึ้น และนำไปสู่ภาวะตาบอดหรือตาเลือนรางได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา เพราะสายตาและการมองเห็นคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการจดจำ คิด และสร้างสรรค์ จนกลายเป็นการเรียนรู้ ความฉลาด และนำไปสู่พัฒนาการด้านอื่นตามมา ข้อมูลจากการสำรวจโดยครูในเด็กก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในโรงเรียน 17 แห่ง ในปี 2555 พบสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1 คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคน เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ อย่างไรก็ตาม 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องสายตา จึงจัดทำ “โครงการเด็กไทยสายตาดี” พัฒนาสุขภาพเด็กนักเรียนในเรื่องสายตาและการมองเห็น “ยิ่งเด็กได้เห็น เด็กยิ่งได้เรียนรู้” โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมการตรวจวัดสายตานักเรียนและแก้ไขความผิดปกติอย่างเหมาะสมทันเวลา ลดความชุกของภาวะตาบอดในเด็กไทยและเด็กนักเรียนมีความพร้อมเรียนรู้ตามนโยบาย“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

********************* 21 ธันวาคม 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก เสริมสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ