ออมสิน เผยผลการดำเนินงาน 11 เดือน ปี 2558 กำไรสุทธิ 19,000 ล้านบาท เดินหน้าปี 2559 มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับ สู่ชีวิตดิจิตอล

ข่าวทั่วไป Wednesday December 23, 2015 15:07 —สำนักโฆษก

ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงาน 11 เดือน ปี 2558 กำไรสุทธิหลังสำรองหนี้ 18,953 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยยังคงเป็นรายได้หลัก ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสูงกว่าปีก่อนตามคาด ด้านสินเชื่อขยายตัว 3.71% จากการสนับสนุนนโยบายรัฐ สินทรัพย์รวมโตกว่า 2.3 ล้านล้านบาท เงินฝาก 1.99 ล้านล้านบาท ผอ.ออมสิน คาดปีนี้ภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมาย หลังมาตรการช่วยเหลือหนี้สินครูเดินหน้า ส่งผล NPLs ลดเหลือเพียง 1.80% เผยแผนงานปี 2559 จะดำเนินการโดยมียุทธศาสตร์มุ่งสู่ GSB New Era : Digital Transformation Banking “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิตอล” ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน เน้นกลยุทธ์การดำเนินงานตามแนวทาง Customer Centric ที่ได้ปูทางไว้ในปี 2558

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสินในช่วง 11 เดือน ของปี 2558 (1 มกราคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2558) ว่า มีกำไรสุทธิหลังหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 18,953 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 53,498 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกัน ปีก่อน 2,309 ล้านบาท มาจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและสภาพคล่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินรางวัลต่ำกว่าปีก่อนมากกว่าสัดส่วนการลดลงของรายได้ดอกเบี้ย แม้ว่าปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ร้อยละ 0.18 และ นำเงินส่งกระทรวงการคลังและนำส่งระหว่างกาลรวม 16,607 ล้านบาท ทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.56 และสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อรายได้รวมสุทธิ ร้อยละ 88.60

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จำนวน 4,005 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ ค่านายหน้า และรายได้ค่าธรรมเนียมจัดการสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์-บริการ และทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจลูกค้า ส่วนค่าธรรมเนียมบริการอื่นๆ ต่ำกว่าปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมสุทธิคิดเป็นร้อยละ 6.63

สำหรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ยังคงสูงต่อเนื่องจากสิ้นปี 2557 ทำให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสุทธิ 66,913 ล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 3.71 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชลอตัวลงบ้าง แต่มาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อของธนาคารฯ ขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน (โครงการเงินกู้ซอฟท์โลน) สินเชื่อเพื่อสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) สินเชื่อบุคคลรายย่อย และสินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โครงการธนาคารประชาชน อาทิ สินเชื่อประชาชน สินเชื่อธุรกิจ SMEs สุขใจพลัส เป็นต้น โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 อยู่ที่ 1,869,884 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,291,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 จำนวน 32,712 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 ซึ่งดำเนินตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้ คือ สินเชื่อรายย่อยต่อรายใหญ่ ร้อยละ 97 : 3 สินเชื่อต่อเงินฝาก (เฉลี่ย) ร้อยละ 93.82 และสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝาก ร้อยละ 17.78

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ภารกิจด้านการส่งเสริมการออม ในฐานะสถาบันเพื่อการออม ปรากฏว่า มียอดเงินฝากรวม 1,990,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 จำนวน 37,825 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 โดยในปี 2558 ธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากหลากหลายที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ออมเงิน ได้แก่ สลากออมสินพิเศษ 3 ปี, เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 8 เดือน, 10 เดือน, 15 เดือน และ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 60 วัน เป็นต้น

“ในปี 2558 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงปลายปีได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (สินเชื่อประชาชนสุขใจ) วงเงิน 35,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน วงเงิน 30,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 100,000 ล้านบาท โครงการประชารัฐ และที่กำลังจะเกิดขึ้น กองทุนร่วมลงทุนกิจการ SMEs เช่นเดียวกับด้านเงินฝากได้ออกผลิตภัณฑ์ที่จูงใจ และส่งเสริมการออม นับว่าเป็นการบริหารกลยุทธ์ตามแผนงานที่ลงตัว”นายชาติชาย กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย การปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการบังคับคดี โดยขั้นตอนการแก้ไขหนี้ที่สามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงได้มากที่สุด คือ ขั้นตอนการติดตามให้ชำระเงินงวด/ชำระหนี้ปิดบัญชี ซึ่งเกิดจากการได้รับความร่วมมือที่ดีจากลูกหนี้ ขณะที่ขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้มีสัดส่วนรองลงมา และขั้นตอนการบังคับคดีมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยการแก้ไขหนี้อย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ได้ดำเนินการควบคู่กับการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมและรัดกุม ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี ยอดหนี้ค้างชำระลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 36,777 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.97 ของสินเชื่อรวม ซึ่งยังคงต่ำสุดในระบบสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญฯ นั้น สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งมี NPLs เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ธนาคารฯ ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ย ตลอดจนปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งช่วยบรรเทาภาระของลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้คาดว่าจะช่วยลดปัญหา NPLs ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2558 ธนาคารฯ จะมีกำไรสุทธิ 16,600 ล้านบาท หลังหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ สูงกว่าแผนที่ปรับปรุงใหม่ 14,350 ล้านบาท แม้ว่าธนาคารฯ จะมีการตั้งสำรองเพิ่มสำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ (โครงการ ช.พ.ค., โครงการเกื้อกูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา) โดย NPLs คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.80 สินทรัพย์จะอยู่ที่ 2,333,000 ล้านบาท (อยู่ในลำดับที่ 4 ของระบบธนาคารไทย) เงินฝาก 2,030,500 ล้านบาท และสินเชื่อเท่ากับ 1,875,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจการดังกล่าว ธนาคารออมสินมีอัตราส่วนทางการเงินที่น่าสนใจ คือ ในด้านคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน ณ 31 ตุลาคม 2558 มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 11.59 ด้านความสามารถในการทำกำไร รายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (NIM) เท่ากับร้อยละ 2.57 กำไร(ขาดทุน)สุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 0.92 และ กำไรสุทธิต่อรายได้รวมอยู่ที่ร้อยละ 18.51

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 ธนาคารออมสินดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการส่งเสริมการออม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความสุขและอนาคตที่มั่นคงของประชาชน” ภายใต้แนวคิด GSB New Era มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับ สู่ชีวิตดิจิตอล โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การส่งเสริมการออม การสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เยาวชนและประชาชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ

โดยภายใต้วิสัยทัศน์ข้างต้น จะดำเนินการโดยมียุทธศาสตร์มุ่งสู่ GSB New Era : Digital Transformation Banking ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงิน (Financial Strengthening) 2.ด้านพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) 3.ด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Product & Solution) ที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า 4.ด้านภาพลักษณ์และการตลาด (Branding & Marketing) ที่เน้นการส่งมอบคุณค่าและสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ธนาคารออมสิน และ 5.ด้านคุณภาพการให้บริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence) มุ่งเน้นสร้าง ความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า โดยยุทธศาสตร์ที่ 3-5 นั้น เป็นกลยุทธ์การดำเนินงานตามแนวทาง Customer Centric ที่ได้ดำเนินมาในช่วงปี 2558

“3 ยุทธศาสตร์ที่มุ่งให้บริการลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มกำลังนั้น ในปีหน้า มีหนึ่งบริการสำคัญ ที่ธนาคารออมสินจะเดินหน้าคือ e-payment ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนใช้ระบบชำระเงินที่ไม่ต้องถือเงินสด โดยจะออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในรูปแบบบัตร People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่าน Mobile Banking : MyMo ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในกรอบความคิดตามนโยบายรัฐ คือ ความพอเพียง มีวินัยทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ