นายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร บ้านห้วยโรง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

ข่าวทั่วไป Friday January 22, 2016 14:57 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร บ้านห้วยโรง อ.บรรพตพิสัย ระบุรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้สังคมมีความมั่นคงสงบสุข เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐให้มากยิ่งขึ้น อำนวยความสะดวกให้เอกชน ประชาชน ร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย มุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ย้ำให้ความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับความสามารถการผลิตภาคเกษตรกรรม-การส่งออกเพื่อยกระดับสู่เกษตรอุตสาหกรรมควบคู่กับสร้าง Smart farmer

วันนี้ (22 มกราคม 2559) เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยมีนายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการและประชาชนรอให้การต้อนรับ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมนิทรรศการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครสวรรค์และอำเภอบรรพตพิสัยร่วมกันดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินเยี่ยมชมโกดังเก็บเมล็ดพืช ยุ้งฉางเก็บข้าว ของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านห้วยโรง โดยมีนายพิชัย โสทะ เกษตรกรตัวอย่างของชุมชนที่ดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านห้วยโรงเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของจังหวัดนครสวรรค์ ต่อด้วยแปลงสาธิตย่อย และเยี่ยมชมโรงคัดแยกเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว

นายอำเภอบรรพตพิสัย กล่าวรายงานว่า ตำบลบึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย มีพื้นที่ 568,648 ไร่ ประชากร 87,467 คน (13 ตำบล 118 หมู่บ้าน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนาร้อยละ 90) ปี 2556/2557 มีการทำนาในพื้นที่ 268,000 ไร่ ซึ่งปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่ทำนาปรังลดลงเหลือเพียง 7,135 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่และพืชผักอายุสั้นแทน เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว โดยใช้แหล่งน้ำจากบ่อบาดาลระดับตื้น ทำให้มีรายได้ดี มีพ่อค้าคนกลางจากตลาดไทมารับซื้อถึงที่ และขยายพื้นที่การปลูกผักแทนการทำนาปรังมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนตำบลบึงปลาทู มีพื้นที่ 32,364 ไร่ เป็นนาข้าว 25,369 ไร่ มีการดำเนินการดังนี้ (1) ปลูกพืชทดแทน (เกษตรกร 360 ราย) ประกอบด้วย ถั่วเขียว 4,850 ไร่ พืชผัก 500 ไร่ ข้าวโพด 220 ไร่ ทำให้มีรายได้ในช่วงผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือนต่อราย (2) ส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ (บริหารการผลิตและจัดการการตลาดร่วมกัน) พื้นที่เป้าหมาย 1,767 ไร่ เกษตรกร 57 ราย ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าว และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี

สำหรับการดำเนินการที่ตำบลบึงปลาทู เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยที่เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวในภาวะประสบปัญหาภัยแล้ง และเป็นตัวอย่างของประชารัฐ เนื่องจากเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐ (กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ฯลฯ) ทำให้ขณะนี้มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่เข้ามาขอสินเชื่อจาก ธกส. (รายละ 1 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ตาม 8 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล) เพื่อปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ดังเช่นประชาชนในพื้นที่ตำบลบึงปลาทูได้ดำเนินการให้เห็นเป็นตัวอย่าง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบกุญแจเครื่องจักรกลการเกษตร (รถตักข้าวเปลือก 1 คัน) ให้แก่นายประนอม หงส์เวียงจันทร์ ตัวแทนสหกรณ์การเกษตรบึงพิมพา จำกัด ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับจัดสรรเครื่องจักรกลการเกษตรตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2558 จำนวน 20 เครื่อง ตามโครงการจัดหาเครื่องจักรกลตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกล่าวกับประชาชนว่า วันนี้รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง และความสงบสุข สิ่งที่สำคัญเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน และเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ถูกชักจูงไปง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาลร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยจะเร่งรัดในปี 2559 ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งระดับบน ล่าง ท้องถิ่น โดยทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจจะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในลักษณะของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน ซึ่งประชารัฐจะขับเคลื่อนเพื่อจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ในระดับที่พอใจ โดยต้องการให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำระดับสากลมาปรับใช้เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความสะอาด โดยเฉพาะแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก และเปลี่ยนผู้ปลูกเป็นผู้ค้าแทน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งการจัดสรรทรัพยากรน้ำต้องรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อคลี่คลายวิกฤตต่าง ๆ ลดความขัดแย้ง เพื่อเดินหน้าประเทศร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการปฏิรูป 11 ด้าน 37 วาระที่ต้องมีการแก้ไขทำอย่าง จริงใจ และยั่งยืน โดยอะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน ทำจริง ทำทันที และมีผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานของประเทศ เพื่อเร่งรัดพัฒนาประเทศชาติให้ได้โดยเร็ว อีกทั้งทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยไปให้ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยและกองทุนหมู่บ้าน เช่น การลงทุนเพื่อสร้างยุ้งฉาง โรงสีข้าว ลานตาก เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ร่วมกันของชุมชน การเสนอโครงการจากกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น อีกทั้งยังยกระดับความสามารถในการผลิตให้แก่ภาคเกษตรกรรม ทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า การแปรรูป การลงทุนเพาะปลูกในพืชที่หลากหลาย และการส่งออกเพื่อยกระดับสู่เกษตรอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการสร้าง Smart farmer โดยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจที่มีความสามารถร่วมกับเกษตรกรเพื่อแปรรูปสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่ม 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนและกระจายรายได้สู่ตำบลและอำเภอ 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว หรือ 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะขึ้นรถอีแต๊กเพื่อเยี่ยมชมแปลงพืชผักและการสาธิตการตลาดซึ่งเป็นตัวอย่างการสร้างรายได้จากการปลูกพืชทดแทนนาปรัง ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และมีผู้มารับซื้อถึงแหล่งผลิต อีกทั้ง นายกรัฐมนตรียังได้ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม 1 ต้น ก่อนออกเดินทางไปประชุม กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาในลำดับต่อไป

...................................

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท / รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ