นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง 8 มาตรการ

ข่าวทั่วไป Friday January 22, 2016 15:09 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง 8 มาตรการ พร้อมฝากให้ประชาชนร่วมกันปฏิรูปเทศและขับเคลื่อนประชารัฐไปพร้อมกับรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก

วันนี้ (22 ม.ค.59) เวลา 16.25 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นการขุดดินในพื้นที่ตำบลหนองมะโมง ประมาณ 200 ไร่ และเป็นโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่แบบบูรณาการในลักษณะ “ประชารัฐ” ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกัน โดยประชาชนชาวหนองมะโมงและภาคเอกชนได้เสียสละมอบที่ดินของตัวเองเพื่อสร้างสระเก็บน้ำดังกล่าว เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นสำหรับใช้ในหน้าแล้ง และเพื่อการระบายน้ำที่ดีในฤดูน้ำหลากแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหนองมะโมงซึ่งมักจะประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากพื้นที่ 4 ตำบล (ต.กุดจอก ต.วังตะเคียน ต.หนองมะโมงและต.สะพานหิน) โดยมีปริมาณกักเก็บน้ำทั้งสิ้น 1,100,000 ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บประมาณ 400,000 ลบ.ม. และมีพื้นที่ จำนวน 8,312.5 ไร่ และครัวเรือน จำนวน 900 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว สามารถประหยัดงบประมาณของรัฐในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากที่เคยเกิดขึ้นได้หลายล้านบาท

นอกจากนี้ ได้มีการนำพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิพระพุทธชินวงศ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้ดำเนินการตามมาตรการที่ 1 คือการส่งเสริมการให้ความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยมีเกษตรกรขอรับปัจจัยการผลิต ได้แก่ เห็ด ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 1,826 ราย และมาตรการที่ 4 คือเสนอโครงการความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง จำนวน 13 โครงการ และจัดอบรมเพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 5 รุ่น ซึ่งสอดคล้องกับตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง 8 มาตรการของรัฐบาล ได้แก่ การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรที่มีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงด้านอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถยืนหยัดในสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งได้

ทั้งนี้ เกษตรกรจังหวัดชัยนาท ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปรัง มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 566,000 ไร่เศษ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด จำนวน 1,283,124 ไร่ คิดเป็น 44.11 % จากการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้น้ำจากชลประทาน และใช้น้ำจากบ่อบาดาลในบางส่วนที่น้ำไม่สามารถส่งมาถึง หรือช่วงที่งดการส่งน้ำ ซึ่งมีเกษตรเข้าร่วมโครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง จำนวน 12,315 ราย โดยปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว แตงโม ฯลฯ สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ของรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด (จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทราชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลกพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์) และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด ที่ต้องการให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน โดยมี นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายอภิชาติ ศรีม่วง นายอำเภอหนองมะโมง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท ที่ครม.มีมติให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง 8 มาตรการของรัฐบาล รวมทั้งผลิตภัณฑ์ OTOP ในพื้นที่ เช่น ผลิตภัณฑ์เรื่องจักสารจากผักตบชวา ผ้าทอกุดจอก ไม้กวาดกวาดดอกหญ้า ข้าวไรซ์เบอรี่ น้ำพริก ฯลฯ โดยนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยความสนใจ พร้อมแนะให้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม และสร้าง story บอกเล่าเรื่องราวถึงที่มาของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น รวมทั้งได้สอบถามถึงโครงการเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาทถึงมือประชาชนหรือไม่ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ยืนยันว่าขณะนี้ได้รับเงินตามโครงการดังกล่าวแล้ว โดยได้มีการนำมาสร้างผลิต OTOP เพื่อสร้างรายได้ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันได้เน้นให้มีการสร้างการรับรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อจะได้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาทด้วย โดยกล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเดินทางมาพบปะกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาทเป็นครั้งแรก และเห็นประชาชามีร้อยยิ้มก็มีความสุข ซึ่งหากพื้นที่ใดมีน้ำก็จะทำให้การเพาะปลูกพืชมีความอุดมสมบูรณ์ประชาชนมีความสุข และวันนี้รัฐบาลจะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันทุกคนต้องร่วมกันช่วยเหลือคนที่อ่อนแอและมีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้การเคารพกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันในลักษณะ “ประชารัฐ”

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยซึ่งเป็นการสร้างความเติบโตและเข้มแข็งจากภายใน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ขยายไปสู่จังหวัดและประเทศ สอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในเกิดขึ้นในชุมชนและประเทศชาติ และต้องส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่มและทุกอาชีพให้มีรายได้ที่เพียงพอ สร้างการเชื่อมโยงทุกกิจกรรมและผลผลิตที่มีอยู่พัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่า อีกทั้งต้องมีการสร้างรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อป้องกันความขัดแย้งและลดความเหลื่อมล้ำ และขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วนในการร่วมกันปฏิรูปประเทศระยะที่ 1 (2559-2560) ของรัฐบาลปัจจุบันให้เป็นไปตามแนวทางและห้วงเวลากำหนดไว้ก่อนที่จะส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไป และเลือกตั้งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลเข้ามาการบริหารราชการแผ่นดิน

รวมทั้งจะต้องลดการต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แทนการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ขณะที่การเช่านาก็จะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมกันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะมีกฎหมายรองรับแล้ว ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน มีชีวิตอยู่อย่างสันติสุข ขณะที่การดำเนินการของรัฐบาลสิ่งสำคัญคือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทุกคนต้องก้าวไปด้วยกัน รวมไปถึงการดำเนินยุทธศาสตร์ปัจจุบันคือ ประเทศไทยบวกหนึ่ง โดยให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนไปสู่ประชาคมโลกให้เป็นเศรษฐกิจเดียวผ่านเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ทั้งทางบก น้ำและอากาศ เช่น รถไฟ เครื่องบิน และเรือ ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ โดยทุกคนร่วมกันในลักษณะประชารัฐ ขณะเดียวกันต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและแนวทางที่กำหนดเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไปให้ได้เพื่ออนาคต และอย่าให้บุคคล หรือผู้มีอิทธิพลและกลุ่มการเมืองใดมาทำให้ประเทศชาติเกิดความแตกแยกขึ้นอีก

--------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ