รัฐบาลยืนยันแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดินจาก 50 ปี เป็น 99 ปี เพื่อประโยชน์ชาติ ไม่ใช่ขายแผ่นดินให้ต่างชาติ

ข่าวทั่วไป Sunday January 24, 2016 15:14 —สำนักโฆษก

รัฐบาลยืนยันแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดินจาก 50 ปี เป็น 99 ปี เพื่อประโยชน์ชาติ ไม่ใช่ขายแผ่นดินให้ต่างชาติ ย้ำส่งเสริมเฉพาะการลงทุนและทำธุรกิจ ไม่รวมวัตถุประสงค์อื่น วอนทุกฝ่ายเปิดใจกว้าง

วันนี้ (24ม.ค.59)พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดิน หรือ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 โดยขยายเวลาการให้เช่าดินของรัฐจาก 50 ปี เป็น 99 ปีว่า แนวคิดดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะระยะเวลาการเช่า 50 ปี ยังเป็นอุปสรรค ไม่ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีระยะเวลาการคืนทุนที่ยาวนาน ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าตัดสินใจลงทุน

“ทุกวันนี้การแข่งขันทางการค้าการลงทุนเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ไทยต้องแข่งขันกับประเทศสมาชิกและยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อีก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีกว่าคู่แข่งหรือไม่ก็เท่าเทียมกับเขา เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียให้เช่าที่ดินได้นาน 99 ปี เวียดนาม 70 ปี ส่วนฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมาให้เช่าที่ดินได้ 50 ปี”

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลทำก็เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะดำเนินการอย่างรอบคอบและมีมาตรการป้องกันการถือครองผิดวัตถุประสงค์ โดยจะให้เช่าที่ดินเฉพาะเพื่อลงทุน หรือเช่าทำธุรกิจ ที่โดยปกติมีการต่ออายุให้อยู่แล้ว ไม่รวมถึงการเช่าประเภทอื่นหรือเหมารวมทุกกิจกรรม และหากผู้เช่าไม่ทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ก็สามารถยกเลิกได้

“กฎหมายนี้ริเริ่มโดยส่วนราชการ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ที่เห็นว่าควรปรับแก้ไขให้เป็นสากล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ จึงไม่ใช่แนวคิดของนายทักษิณหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามที่มีการกล่าวอ้าง นอกจากนี้ รัฐบาลขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้างโดยยืนยันว่า แนวทางดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ และไม่ใช่การยกแผ่นดินไทยให้ต่างชาติแต่อย่างใด”

------------

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ