รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดัน 3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน ในจังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นหมู่บ้านปลอดสารพิษ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 13, 2016 11:49 —สำนักโฆษก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดัน

3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอแก้งคร้อ

ในจังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างช่องทางการจำหน่าย ภายใต้โครงการตลาดชุมชนที่ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ “ซึ่งหากผลิตสินค้าที่เป็นอินทรีย์ หรือ สินค้าปลอดสารพิษ เกษตรกรก็จะสามารถขายได้ ราคาที่สูงกว่าราคาปกติ เกือบ 2 เท่า อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย ในระยะยาวช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการซื้อสารเคมีหรือยากำจัดแมลงศัตรูพืช และช่วยลดปริมาณการนำเข้าของสารเคมีจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง” ท่านรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้การทำการเกษตรแบบอินทรีย์ จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องของดินน้ำ และอากาศ เกษตรกรต้องจะทำให้ทรัพยากรดินและน้ำได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู

ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีต่างๆ จึงทำให้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีพืชและสัตว์ต่างๆ อยู่หลากหลายชนิด อีกทั้งในทางสากล ระบบเกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นประเด็นปัญหาโลกร้อนในขณะนี้

ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยภูมิ ได้ทำการสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งการปลูกพืชผัก ผลไม้ และการทำการปศุสัตว์ รวมทั้งการทอผ้า ฝ้าย และไหม ที่มาจากต้นไม้ที่ไม่ใช้สารเคมี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้การอบรมความรู้เรื่องการตลาด การเชื่อมโยงการตลาด การเจรจาธุรกิจ รวมทั้งการเปิดศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูเชียงทา อำเภอหนองบัวระเหว และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนย้อมผ้าสีธรรมชาติ อำเภอหนองบัวแดง เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษที่ผลิตได้ในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ชา กล้วยหอมทอง ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์ พืชผักผลอดสารพิษ การทำ

ปศุสัตว์ เลี้ยงวัว หมู และไก่ รวมทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าฝ้าย และผ้าไหม

โดยเฉพาะที่อำเภอหนองบัวแดงมีการทอผ้าฝ้าย และไหมที่ย้อมจากสีเป็นธรรมชาติ และมาจากต้นไม้ที่ไม่ใช้สารเคมีพ่น โดยวิสาหกิจชุมชนจะรวบรวมสมาชิกในพื้นที่เพื่อปลูกฝ้าย และปลูกพืชผักผลไม้แซมในสวน สมาชิกสามารถปลูกกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่นได้เดือนละ 4 ตัน นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันให้มีการเชื่อมโยงกับผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจที่จะสั่งซื้อผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งตลาดญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 160 รายมีรายได้ต่อหัวเดือนละ 6,000- 8,000 บาท สามารถเลี้ยงตัวเองได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าต่อไปนานาประเทศจะให้ความสำคัญ

ต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารมากขึ้นเป็นลำดับ สังเกตได้จากมาตรการต่างๆ ที่เน้นเรื่องของสุขอนามัย และการลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ดังนั้น อาหารปลอดสารพิษ อาหาร

ที่เป็นอินทรีย์ หรือออแกนิค จะยิ่งมีความต้องการมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าปกติ เกษตรบางรายหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ พืชผักอินทรีย์มากขึ้นเพราะสามารถขายได้ราคาสูงกว่าปกติ กว่า 2 เท่า อย่างไรก็ตามความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ของไทยยังไม่กว้างขวาง มาตรฐานที่รองรับส่วนใหญ่จะเป็นมาตรฐานในประเทศที่เป็นของหน่วยราชการ เช่น Organic Thailand หรือ มาตรฐานของเอกชน เช่นมาตรฐาน PGS สำหรับมาตรฐานสากล

เช่น มาตรฐานนานาชาติ IFOAM สำนักงานอยู่ประเทศเยอรมนี, USDA ของสหรัฐ, JAS ของญี่ปุ่น, BIO ของเยอรมนี, AB ของฝรั่งเศส ฯลฯ ยังมีบริษัทที่ขอรับมาตรฐานดังกล่าวน้อยอยู่ เนื่องจากการขอมาตรฐาน และการที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญบินมาตรวจสอบเป็นประจำสม่ำเสมอยังเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับเกษตรกร ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันให้เกษตรกรได้รับมาตรฐานภายในประเทศก่อน และจะผลักดันเข้าสู่มาตรฐานสากลต่อไป

ในปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เกิดหมู่บ้านอินทรีย์ครบวงจร คือ

มีการปลูกพืชผัก ปศุสัตว์ และการผลิตสินค้าอื่นที่มาจากพืชอินทรีย์ จำนวน 6 จังหวัด จากที่มีอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านอินทรีย์ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดชุมชน 10 แห่ง Farm outlets ที่มีอยู่จำนวน 31 แห่ง รวมทั้งขายเข้าห้างร้านในจังหวัดต่างๆ ให้มากขึ้น และบรรจุข้อมูลแหล่งซื้อ-ขาย เหล่านี้ลงใน application ลายแทงของถูก เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ผู้สนใจ ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อีกด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ