รมต.นร. สุวพันธุ์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 6/2559

ข่าวทั่วไป Friday June 17, 2016 10:41 —สำนักโฆษก

วันนี้ (17 มิ.ย. 59) เวลา 09.00 น. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 6/2559 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้ 1. ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

หลักการ : เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ

แนวทางการดำเนินงาน ดังกล่าว ดำเนินการตามกฎหมายของหน่วยงานตามประเภทที่ดินของรัฐ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการการจัดหาที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 โดยใช้กลไกของคณะอนุกรรมการ 5 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช. จังหวัด) ประกอบด้วย 1) จัดหาที่ดินที่จะจัดให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมด้วยการตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครอง (ถ้ามี) 2) กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน 3) จัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ในรูปสหกรณ์ ชุมชนหรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน 4) ส่งเสริม พัฒนาอาชีพ และการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม

ลักษณะที่ดินที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำแนกเป็น 2 ลักษณะคือ (1) ที่ดินของรัฐที่มีราษฎรครอบครอง (การจัดระเบียบ) (2) พื้นที่ว่างเปล่าไม่มีผู้ครอบครอง และ มีศักยภาพในการจัดที่ดิน (การจัดระบบ) เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ ได้รับการจัดที่ดิน ที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสนับสนุน การจัดหาที่ดิน จัดที่ดินทำกินและใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องและเหมาะสมตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งการติดตามและประเมินผล

แผนงานการดำเนินการตามเป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2560) พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 97 พื้นที่ 55 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 427,021 ไร่

ส่วนผลการดำเนินการจัดที่ดินให้ผู้ไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน มีพื้นที่ดำเนินการ รวม 4 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดนครราชสีมา รวม 5,583 ไร่ โดยมีผลการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้ว เนื้อที่ 5,054 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 90.52 ของเป้าหมาย (5,583 ไร่) เกษตรกร 421 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.59 ของเป้าหมาย (816 ราย)

2. ความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มุกดาหาร ตราด และหนองคายแล้วสิทธิประโยชน์ ขณะนี้เอกชนสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้แล้ว โดยขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้ออกประกาศ กกท. (1) นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกำหนดเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีกิจการทั่วไปและกรณีกิจการเป้าหมายตามที่ กนพ. กำหนด (2) นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับ SMEs (3) เรื่องกำหนดประเภทกิจการเป้าหมายเพื่อเติมอีก 10 ประเภท กิจการเป็นการผลิตสินค้าแปรรูปเกษตรและอุปโภคบริโภค
  • กรมสรรพากร กำหนดมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศ กกท. โดยยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้แล้วตั้งแต่ 10 กันยายน 2558-31 ธันวาคม 2560
  • กรมศุลกากร ได้ออกประกาศ ที่ 154/2558 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของ ธสน. โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้และได้รับวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพิ่ม

นอกจากนี้ ได้เปิดให้บริการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) ใน 10 พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว

ในส่วนของการลงทุนในปัจจุบัน ในช่วงเดือน 1 มกราคม 2558-1 มิถุนายน 2559 มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย เชียงราย สงขลา และมุกดาหาร จำนวน 11 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 1,259.15 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติแล้ว 8 โครงการ ได้แก่ โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ (หนองคาย) ยางเครป (เชียงราย) น้ำมัน มะพร้าวสกัดเย็น (สงขลา) ชุดชั้นใน – ยกทรง – เสื้อโค้ท ชุดชั้นในชาย – ชุดกีฬา กางเกงยีนส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลการเกษตรและรถยนต์ 3 ล้อ บรรทุก และขวดพลาสติก (ตาก)

**********************************

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ