นายกรัฐมนตรีสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ก่อนหารือกับรองประธานาธิบดี เพื่อตอกย้ำความคืบหน้าและความร่วมมือไทย-อินเดีย

ข่าวทั่วไป Friday June 17, 2016 10:57 —สำนักโฆษก

ภายหลังจากการพบกับภาคเอกชนอินเดีย เวลา 16.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภริยา ได้เดินทางไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงนิวเดลี (National Museum) ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปกรรมของอินเดียมากกว่า 150,000 ชิ้น อันแสดงความเป็นมาของประวัติศาสตร์อินเดียที่มีอายุกว่า 5,000 ปี เพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนบุษบกที่รัฐบาลไทยได้จัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชาและได้มอบให้เป็นของขวัญแก่รัฐบาลอินเดียเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2540

โดยพระบรมสารีริกธาตุที่จัดแสดงมีลักษณะเป็นพระบรมอัฐิขนาดค่อนข้างใหญ่หลายองค์ ประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวนี้ นักโบราณคดีอินเดียขุดค้นพบได้มาจากตำบล Piprahwa รัฐอุตตรประเทศ ใกล้ชายแดนอินเดีย-เนปาล เมื่อปี ค.ศ. 1972 โดยที่สันนิษฐานว่า ตำบล Piprahwa อาจเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ ในสมัยพุทธกาล ซึ่งในประเทศไทย พระบรมสารีริกธาตุที่พบจากแหล่งดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน ณ บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ภายหลังจากการสักการะพระบรมสารีริกธาตุแล้ว นายกรัฐมนตรีและภริยาเดินทางไปยังทำเนียบรองประธานาธิบดีอินเดีย ในเวลา 17.00 น. เพื่อเยี่ยมคารวะ นายเอ็ม (โมฮัมมัด) ฮามิด อันสารี รองประธานาธิบดีอินเดีย รักษาการประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินเดีย และภริยา ซึ่งเป็นการย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกันและติดตามความคืบหน้าของผลการหารือเมื่อครั้งที่รองประธานาธิบดีอินเดียและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2559

โดยพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการสนทนา ดังนี้

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการค้าการลงทุนแบบ 2 ทาง กล่าวคือ การสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนและส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดอินเดียมากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้นักลงทุนจากอินเดียมาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการความเชื่อมโยง เพื่อให้ไทยและอินเดียเป็นประตูเชื่อมของภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ ผ่านโครงการที่สำคัญ อาทิ ถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และโครงการภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดีย โดยในการเยือนครั้งนี้ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศยังได้จัดการประชุมสภาธุรกิจไทย-อินเดีย ครั้งที่ 1 และจัดการสัมมนาทางธุรกิจ เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ภาคเอกชนของทั้งไทยและอินเดีย

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว สองฝ่ายต่างยินดีที่ไทยและอินเดียจะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 70 ปี ในปี 2560 โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความร่วมมือผ่านความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว

ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและอินเดียควรมีการศึกษาระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาแบบสองทาง โดยไทยสนับสนุนให้มีจัดตั้ง Thai Corner ในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ตลอดจน ยินดีที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ไทยศึกษาในอินเดียด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมอบเงินสนับสนุนที่ได้รับจากภาคเอกชนเป็นจำนวน 25,500 ดอลลาร์สหรัฐ (9 แสนบาท) บาท เพื่อสมทบกองทุน Thailand Fund for Nalanda University ซึ่งจะมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยสำหรับอาจารย์และนักศึกษาในสาขา Buddhist Studies

ทั้งนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบ 2 ทาง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในระดับประชาชน รวมทั้ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาพยนต์อินเดีย เข้ามาถ่ายทำภาพยนต์ในไทย ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีนโยบาย Cash Rebate สำหรับผู้ประกอบการภาพยนต์ต่างชาติ โดยสามารถขอเงินคืนสูงสุดได้ถึงร้อยละ 20

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้น และให้คำมั่นที่จะสนับสนุนและเดินหน้าความร่วมมือที่มีอยู่อย่างเต็มที่ รวมถึง การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเสด็จฯ เยือนอินเดียของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงปลายปีนี้ และขอให้รัฐบาลอินเดียดูแลการรับเสด็จพระองค์ท่านให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ