นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมหารือยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 กับบทบาทของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่ง โดย รมช.พณ.ระบุเป็นการประชุมเชิงบูรณาการครั้งแรกเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างแท้จริง เผยนายกฯ ห่วงใยในงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่ต้องสามารถตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ
วันนี้ (15 ส.ค.59) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 กับบทบาทของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเครือข่ายองค์การบริหารงานวิจัยแห่งชาติ โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิการบดีและรองอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยภาครัฐ 27 แห่ง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลการประชุมว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมร่วมในลักษณะบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยมหาวิทยาลัย ซึ่งประเทศไทย 4.0 เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อม ๆ ไปกับเรื่องโครงสร้างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหาอยู่ไม่น้อย แต่ในที่สุดแล้วก็คือการปฏิรูปคนหรือการปฏิรูปการศึกษา วันนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยผ่านมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยมีสองบทบาทสำคัญคือ 1. บทบาทการสร้างคนในเรื่องปฏิรูปการศึกษา 2. บทบาทในการขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ ทปอ. ด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่งได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งตกผลึกจึงได้มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในหัวข้อสำคัญ 3 ประเด็นในวันนี้คือ ประเด็นที่ 1. การที่ประเทศไทย 4.0 จะเดินหน้าไปได้นั้น บทบาทภารกิจของมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน และจำเป็นจะต้องเป็นบทบาทหลักในการขับเคลื่อนงานวิจัยและการสร้างคน ประเด็นที่ 2. มหาวิทยาลัยจะไปตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ในเรื่องการเปลี่ยนรากแขนง ซึ่งแต่เดิมนั้นเราไม่มีรากแก้วในองค์ความรู้เรื่องของเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย 4.0 ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นตัวหลักในการที่จะสร้างรากแก้วของเทคโนโลยีให้กับประเทศใน 5 ปีจากนี้ไป โดยในที่ประชุมวันนี้ มหาวิทยาลัยได้นำเสนอว่า โรดแม็ปของการพัฒนาทั้ง 5 แก่นเทคโนโลยีนั้น แต่ละเรื่องใน 1 ปี, 5 ปี และอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโรดแม็ปที่มีความชัดเจน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็จะต้องตอบโจทย์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ท้าทายของประเทศ เช่น เรื่องสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ระบบน้ำ ซึ่งที่จริงแล้วมีองค์ความรู้อยู่ในมหาวิทยาลัยแต่อยู่อย่างกระจัดกระจาย วันนี้เมื่อมีประเทศไทย 4.0 เกิดขึ้น ก็จะสามารถทำให้ทุกอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน มหาวิทยาลัยจะมีความร่วมมือกันในลักษณะของประชารัฐการวิจัย ซึ่งวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการเริ่มต้นโดยมหาวิทยาลัยของรัฐ 27 แห่ง ในนามของ ทปอ. และต่อจากนี้ไปจะได้มีการขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยรัฐทั้งหมด 155 แห่ง และจะต่อไปถึงมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย
“วันนี้ได้มีการนำเสนอว่ามหาวิทยาลัยจะเข้าไปช่วยในการสร้างเทคโนโลยีหลักของประเทศทั้ง 5 เทคโนโลยีนั้น เพื่ออย่างน้อยทำให้เรายืนอยู่บนขาของตัวเอง และจะไปตอบโจทย์เรื่องใหญ่ ๆ วาระของประเทศ หรือวาระของภาคเอกชน ว่าเราจะไปช่วยเอกชนในการตอบโจทย์ เพื่อจะทำให้เอกชนนั้นสร้างความมั่งคั่งให้กับโลกได้อย่างไร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ ประเทศไทย 4.0 เป็นเรื่องของการปฏิรูป ดังนั้นยังมีเรื่องสำคัญที่ทาง ทปอ. ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้เพื่อให้รัฐบาลปลดล็อก 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1. จากนี้ไปมหาวิทยาลัยจะถูกจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องการวิจัย เพื่อไปพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ในระดับโลก กลุ่มที่สอง มหาวิทยาลัยที่จะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เกษตร เทคโนโลยี และกลุ่มที่สาม มหาวิทยาลัยชุมชนที่จะไปตอบโจทย์ระดับพื้นที่ ภูมิภาค ชุมชน ฉะนั้นจึงจะมีการจัดระเบียบให้มีการแบ่งงานกันทำ แต่ร่วมกันเพื่อไปตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ในอนาคต 2. มหาวิทยาลัยแต่เดิมนั้น โจทย์ของการวิจัยไม่มีความชัดเจน เมื่อไม่ชัดเจน ต่างคนก็ต่างไปพัฒนา วันนี้ถือว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่งจะผนึกกำลังกันและแบ่งงานกันทำเป็นแม่ข่ายในเรื่องใหญ่ ๆ ของประเทศ และจะสร้างฐานรากของขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศให้เกิดขึ้นใน 3-5 ปีข้างหน้า 3. ตามที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในระบบการวิจัย แต่ยังไม่สามารถร้อยเรียงให้ทำงานได้อย่างชัดเจน วันนี้ ทปอ. จึงได้นำเสนอความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการวิจัยให้ชัดเจน เพื่อให้มีพลังและตอบโจทย์บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคตที่จะเชื่อมต่อกับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นให้แนบแน่นขึ้น นอกจากนี้ ได้หารือกันว่าถ้ามหาวิทยาลัยจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จำจะเป็นต้องมีการปลดล็อกเรื่องอะไรบ้าง ทั้งเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกองทุนต่าง ๆ
“ท่านนายกรัฐมนตรีมองว่า มหาวิทยาลัยคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง นี่คือผลตอบรับที่เกิดขึ้น นำมาสู่สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายต่อใน 2-3 ประเด็น ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานต่าง ๆ ขึ้น เพื่อตอบโจทย์วันนี้ ให้ขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับพื้นที่ ระดับชุมชน ซึ่งได้มีการพูดถึงว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราจำเป็นจะต้องมาดูว่าโจทย์ที่ออกมาในเรื่องการวิจัยจะไปตอบโจทย์ระดับภูมิภาค ตอบโจทย์ 18 คลัสเตอร์ของกลุ่มจังหวัด และลงไปสู่จังหวัดได้อย่างไรบ้าง หรือจะทำอย่างไรให้ผลของการวิจัยออกดอกออกผลมาเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้ เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่นอกเหนือจากการทำวิจัยเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยในเวลาเดียวกัน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
-----------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th