ไทยเร่งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ EAS เพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายหลักของโลก

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2016 14:54 —สำนักโฆษก

วันนี้ (8 ก.ย. 59) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที 11 ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้นำ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่มีการปฏิบัติตามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี ของ EAS ที่ได้ร่วมรับรองเมื่อปีที่แล้วมีความก้าวหน้าใน และเห็นว่า ประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งให้กับ EAS ให้เป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองของภูมิภาค โดยปัจจุบันภูมิภาคนี้กำลังถูกทดสอบความแข็งแกร่งว่าจะสามารถรักษาบทบาทนี้ต่อไปได้อย่างไร เมื่อการเมืองและความมั่นคงวิ่งสวนทางกับความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดความสมดุล

โดยนายกรัฐมนตรีเสนอว่า ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยที่ไทยเห็นว่า ควรเร่งการเจรจา RCEP ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และการบริการในภูมิภาคอย่างรอบด้าน และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิก TPP เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกัน แต่ต้องเกื้อกูลกันด้านความมั่นคง

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าปัญหาความท้าทายเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นแรงดึงดูดให้ประเทศต่าง ๆ หันมาขยายบทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น จึงต้องสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างมหาอำนาจและส่งเสริมให้ประเทศมหาอำนาจแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค โดยอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์แก่ภูมิภาคนี้ ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ทำให้ EAS เป็นหัวใจของโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ไทยเสนอให้เร่งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ EAS เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับประเด็นท้าทายหลัก ๆ ในศตวรรษนี้ ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเห็นว่าต้องอาศัยความร่วมมือและการแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้นทาง เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ปัญหาทะเลจีนใต้ ไทยสนับสนุนการเจรจาโดยสันติวิธีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ไทยขอให้ใช้ความอดทนอดกลั้น ไม่ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้สถานการณ์ทวีความยุ่งยากซับซ้อน และขอให้มีการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้ว ประเทศสมาชิกต้องช่วยกันทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต เพื่อไม่มีใครถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังด้วย

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูปในระยะที่ 2 โดยได้ผ่านการลงประชามติของคนไทยซึ่งเสียงส่วนใหญ่ได้ให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอให้มั่นใจได้ว่า การดำเนินการทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ เพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่อาเซียนและโลกในภาพรวม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ