นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับสภาธุรกิจเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ (BCIU)

ข่าวทั่วไป Saturday September 24, 2016 08:22 —สำนักโฆษก

วันนี้ 22 กันยายน 2559 เวลา 18.00 น. ณ โรงแรม Plaza Athenee นครนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับสภาธุรกิจเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ (Business Council for International Understanding) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 โดยมีเอกชนชั้นนำของสหรัฐ ฯ เข้าร่วมหารือด้วย อาทิ กลุ่มการเงิน กลุ่มอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มโทรคมนาคมและการสื่อสาร อุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นต้น พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ

นายกรัฐมนตรีกล่าวความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสหรัฐ ฯ ที่มีมายาวนาน พร้อมขอบคุณสภาธุรกิจเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและขยายการลงทุนในไทย ซึ่งสะท้อนให้ว่าภาคเอกชนในสหรัฐฯ ยังคงให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

ไทยมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ไทยยังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ (connectivity hub) ในทุกทางทั้งต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไปจนถึงจีนตอนใต้ และต่ออาเซียนโดยรวม ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐ ฯ สามารถใช้จุดแข็งของประเทศไทย ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจและต่อภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า รัฐบาลได้ผลักดันการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยง อาทิ การปรับปรุงท่าเรือและสนามบินในประเทศ การปรับปรุงถนนและการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ไปจนถึงจีนตอนใต้ ทั้งการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ทั้งการพัฒนาทางรถไฟความเร็วสูง การวางเครือข่ายดิจิตัล และการปรับปรุงท่าอากาศยานและท่าเรือในประเทศทั้งท่าเรือสัตหีบ แหลมฉบัง และมาบตาพุด เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่าเรือของภูมิภาค

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น ไทยสนับสนุนแนวทางการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด และมุ่งปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการประกอบธุรกิจ เช่น การปฏิรูประบบภาษีอากรและศุลกากรให้โปร่งใสและทันสมัยขึ้น การปรับปรุงมาตรการจูงใจการลงทุน การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในเมืองและระบบโลจิสติกส์ การขยายเครือข่ายโทรคมนาคมและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายดิจิตัล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเอื้ออำนวยให้การประกอบธุรกิจของนักลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศให้สะดวกขึ้น (ease of doing business)

รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะยกระดับประเทศไทยให้หลุดออกจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยได้กำหนดอุตสาหกรรมที่ไทยดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว 5 สาขาเพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาเป็นเข้มข้นยิ่งขึ้น (deepen) ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (4) เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (5) การแปรรูปอาหาร ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมใหม่ที่รู้จักกันในนาม New S-Curve อีก 5 สาขาเพื่อต่อยอดเชื่อมโยงจากอุตสาหกรรมเดิมดังกล่าว ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และได้ปรับปรุงมาตรการจูงใจการลงทุนหลายประการทั้งสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุน มาตรการภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาคทั้ง กรอบ PPP และ RCEP ด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงพัฒนาการของประเทศไทยว่า กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ มีการประกาศ Roadmap ของการคืนสู่ประชาธิปไตยนี้อย่างชัดเจน และได้ดำเนินการตาม Roadmap เป็นผลสำเร็จตามขั้นตอน โดยรัฐบาลมีความจริงจังและจริงใจที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพื่อให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงได้สมดุล

ประธานบริหารสภาบีซีไอยู ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประทับใจในความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยมีเสถียรภาพ และไทยมีการยกระดับเศรษฐกิจประเทศภายใต้ โครงการ Thailand 4.0 ทำให้เพิ่มโอกาสและลู่ทางการค้าและการลงทุนในไทยและภูมิภาคด้วย ซึ่งธุรกิจของสหรัฐ ฯ ที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว กำลังพิจารณาขยายการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจภาคบริการและค้าปลีกของสหรัฐ สนใจที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศทั้งการลงทุนโดยตรงและการร่วมทุน

โอกาสนี้ ผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนสหรัฐ ฯ ต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแผนงานทางธุรกิจ อาทิ เจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูง บริษัท Goodyear Tire and Rubber ได้กล่าวว่าบริษัท ฯ ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนานและมีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะ การสร้างโรงงานผลิตยางล้อครื่องบิน เพื่อตอบสนองความต้องการของในอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต รองประธาน บริษัท Walmart กล่าวว่า ไทยได้มีการส่งเสินค้าให้ วอลมาร์ท และวอลมาร์ทกำลังพิจารณาขยายการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มเติม และเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับแรงงานและกระบวนการผลิตอาหารทะเลอย่างจริงจังอีกด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ