นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.ชัยนาท ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการปัญหาอุทกภัยพร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday October 5, 2016 08:07 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.ชัยนาท ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการปัญหาอุทกภัยพร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

วันนี้ (5ต.ค.59) เวลา 16.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การแก้ปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา (จังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี ) รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท โดยมี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการจังหวัดชัยนาท เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

สำหรับจังหวัดชัยนาท มีพื้นที่ 2,469 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่ ประชากร 330,754 คน พื้นที่เกษตรกรรม 1.2 ล้านไร่ หรือ 80 % ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ปัจจุบันจังหวัดชัยนาทประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 6 อำเภอ 28 ตำบล สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน 2559 ทำให้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มีมาก ประกอบกับน้ำจากจังหวัดอุทัยธานีหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองมะโมง อำเภอมโนรมย์ อำเภอหันคา อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอสรรคบุรี รวม 21 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 668 ราย นาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย 8,067 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 7,566 ไร่ พืชไร่ 501 ไร่

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2559 เป็นต้นมา จังหวัดชัยนาทประสบปัญหาอุทกภัย จากน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสรรพยา สาเหตุเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าท่อระบายน้ำ และน้ำดันเข้าท่อระบายน้ำเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่การเกษตรรวม 7 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 365 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่นาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ได้รับผลกระทบ 7,500 ไร่ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้ จังหวัดได้ประกาศให้เขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร โดยจังหวัดชัยนาทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งการระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งระยะไกล 1 เครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ รวมทั้งเสริมกระสอบทราย 3,500 ถุง และใช้รถแบคโฮ 8 คัน ทำคันกั้นน้ำ ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเกือบเข้าสู่สภาวะปกติ พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ส่วนการเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัย จังหวัดชัยนาทได้เตรียมความพร้อม เช่น ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยผ่านสื่อในทุกช่องทาง อาทิ เสียงตามสายประจำหมู่บ้าน วิทยุชุมชน Social Media เช่น Line และสื่อมวลชนในพื้นที่ และให้ติดตามสถานการณ์ข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด กำชับทุกภาคส่วนเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถออกเผชิญเหตุได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถแบคโฮ เรือท้องแบน รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง โดยการบูรณาการจากส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำ และขุดลอกคูคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยใช้งบพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด งบของกระทรวง/กรม วางแผนเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อใช้เป็นที่รับน้ำรวม 8 แห่ง พื้นที่รวม 145,124 ไร่ ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 207 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว จำนวนพื้นที่ 45,025 ไร่ และจะเก็บเกี่ยวส่วนที่เหลือทั้งหมดในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ การเตรียมการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (5 ต.ค. 59) เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกในเขตจังหวัดกำแพงเพชรและอุทัยธานี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น และยังมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับในพื้นที่ตอนล่าง กรมชลประทานได้ระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลง รวมปริมาณน้ำที่ได้ระบายออกสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. – 5 ต.ค. 59 ปริมาณทั้งสิ้น 232 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

สำหรับการผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงต่าง ๆ นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนใช้ทุ่งต่าง ๆ ที่เป็นแก้มลิงเอาไว้รองรับน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนัก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกชุกตั้งแต่ต้นเดือนไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2559 การพร่องน้ำรอในช่วงนี้จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะมาอีกระลอก ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าการเอาน้ำเข้าก่อนหน้านี้ หากเกิดปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากลงมา จะทำให้ไม่มีที่เก็บกักและชะลอน้ำเอาไว้ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัว อาจจะเกิดความเสียหายแผ่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปริมาณน้ำจะไหลข้ามคันกั้นน้ำทำให้การควบคุมปริมาณน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขณะนี้มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ทำให้ต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยจะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่างฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ ด้วยการใช้เขื่อนพระรามหกเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยบริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก จะแบ่งรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ในปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบัน (5 ต.ค. 59) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 530 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันออกแฝั่งตะวันตก เริ่มจะมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน โดยการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกักต่ำสุด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนักลงมาอีก จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำที่จะเคลื่อนลงมาสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่างในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ มีการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยได้บูรณาการเชิงพื้นที่ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยให้นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจพื้นที่การเกษตรของราษฎรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่ชั้นใน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านข้อมูลประกอบการให้ความช่วยเหลือ โดยจะให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ กฎหมายที่มีกรณีเป็นภัยธรรมชาติ หรือเพื่อประกอบการพิจารณาตามนโยบายรัฐบาล กรณีได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการโดยภาครัฐ จากการสำรวจข้อมูลของกรมการปกครอง ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2559 พบว่ามีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย นาข้าวพื้นที่รวม 3,066,193 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 726,162 ไร่ รอเก็บเกี่ยว 2,368,103 ไร่ ผู้ประกอบอาชีพประมง ได้แก่ บ่อปลา 7,961 บ่อ บ่อกบ 107 บ่อ บ่อกุ้ง 574 บ่อ พืชสวน 56,807 ไร่ พืชไร่ 414,912 ไร่ อื่น ๆ เช่น สวนผัก นาบัว จ้านวน 39,896 ไร่ โดยให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหา และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหาร อปท. เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่ตรวจตราสภาพน้ำ และ/หรือรับฟังปัญหาต่าง ๆ จากประชาชนในพื้นที่ให้เป็นประจำหรือจัดเวรหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ลงไปอำนวยการแก้ไขปัญหาประจำพื้นที่ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที

อีกทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับหน่วยงานชลประทาน และอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนชัยนาท หรือเขื่อนเจ้าพระยา ให้คำนึงถึงความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากภาคเหนือ และน้ำจากปริมาณฝนตกในพื้นที่แล้วไหลสมทบ (side flow) มารวมในลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งจะทำให้ความเร็วในการไหลของน้ำ และปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้นทำให้ระดับน้ำสูงด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เตรียมการอย่างดียิ่ง และขอให้ทุกจังหวัดหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสัมพันธ์สอดคลองกันในแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาปริมาณน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ประกอบการระบายน้ำและผันน้ำ รวมถึงการเก็บกักน้ำ เพื่อให้น้ำที่ระบายออกไปส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามหากต้องมีการระบายน้ำ ต้องมีการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อประชาชนจะได้เตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นไปอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันต้องเตรียมมาตรการรองรับในการชดเชยค่าเสียหายให้กับประชาชนเป็นไปอย่างเหมาะสมเป็นธรรม เพื่อประชาชนให้ความร่วมมือกับแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานราชการจะดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการผันน้ำลงสู่แก้มลิงธรรมชาติ หรือพื้นที่การเกษตร สำหรับแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยนั้น ยังเป็นไปในอัตราเดิม ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีการหาพื้นที่เพื่อทำแก้มลิงรองรับน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากการเก็บกักน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ที่มีอยู่ นอกจากนี้การบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ และการเก็บกักน้ำระบายน้ำ ตลอดจนการหาแนวทางดูแลแก้ไขปัญหาเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อีกทั้งต้องมีการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบระยะ 5 ปี และให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยใช้ความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวชี้วัดการดำเนินการ และปรับปรุงการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและยุทธศาสตร์

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชน ข้าราชการ ทหารและตำรวจในพื้นที่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร ติดตั้งบานประตูเหล็กรูปโค้งสูง 7.50 เมตร มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง ประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวากว้าง 14 เมตร ยาว 170.50 เมตร เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บนสันเขื่อนมีสะพานกว้าง 7 เมตร รับรถน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน และมีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินสร้างบนคันกั้นน้ำซ้ายมือเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย โดยอัตราระบายน้ำผ่านเขื่อนสูงสุดประมาณ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่การปล่อยน้ำจะควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ