คตน.รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนฯ

ข่าวทั่วไป Thursday November 17, 2016 15:10 —สำนักโฆษก

วันนี้ (17พ.ย.59) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 7/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุป ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.6 คณะ) ว่าที่ผ่านมามีความคืบหน้าโดยลำดับ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเกิดความเข้าใจอันจะส่งผลให้การดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งผลตอบรับของผู้เรียนในภาพรวมมีความพึงพอใจต่อนโยบายดังกล่าว การพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสำนักงานคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างมาตรการในการกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อนำไปกำหนดค่าตอบแทนในอนาคต ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างดำเนินงาน รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการกำลังวางแผนบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การผลักดันระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 2 ราย เป็นเงินจำนวน 65 ล้านบาท และอีกส่วนคือ การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการเช่าซื้อหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยได้มีการอนุมัติสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน วงเงิน 3,200 ล้านบาท โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐเป็นการเพิ่มโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้หรือซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ การดำเนินงานและขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ในส่วนการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดการขับเคลื่อนอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในเขตเมืองให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้มีจำนวนที่เพียงพอ การจัดทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคง การเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์และการพัฒนาระบบเฝ้าระวังข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและรับทราบการดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการเกี่ยวข้องเรื่องมาตรการและโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โดยภาพรวมโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน มีดังนี้ 1) โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (งบตำบลละ 5 ล้านบาท) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ผลการดำเนินงาน จำนวน 120,022 โครงการ ลักษณะโครงการเกี่ยวกับซ่อมแซมสิ่งสาธารณะ ก่อสร้างและปรับปรุงถนน ปรับปรุงแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมการจ้างงาน ต่อยอดโครงการพระราชดำริฯ 2) โครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (งบสร้างอาชีพ/สร้างรายได้) เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรและคนยากจนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มตลอดฤดูการผลิต ผลการดำเนินงาน จำนวน 3,827 โครงการ เกี่ยวกับพัฒนาศักยภาพในการทำการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร แปรรูปผลผลิตการเกษตร 3) งบสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร (ชนิดเครื่องจักรกล) อาทิ รถไถ รถแทรกเตอร์ รถดำนา รถเกี่ยวข้าว รถนวดข้าว รถบรรทุก เครื่องสีข้าว รถตัก เครื่องตัดข้าวโพด เครื่องชั่ง เครื่องสูบน้ำ จักรรีดยาง เครื่องคัดแยกข้าวสาร/ผลไม้ ฯลฯ โดยได้มีการดำเนินการ 20 จังหวัด 455 รายการ ได้รับประโยชน์ 175 กลุ่มเกษตรกร คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโอนเครื่องจักรการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแล้ว 4) โครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง (มาตรการที่4) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ผลการดำเนินงาน เกษตรกรดำเนินงาน จำนวน 8,108 โครงการ ดังนี้ โครงการพื้นน้ำน้อย จำนวน 542 โครงการ โครงการเกษตรอื่น จำนวน 5,815 โครงการ โครงการนอกภาคการเกษตร 1,751 โครงการ โดยประชาชนได้รับประโยชน์ 2.3 ล้านราย เกิดรายได้จากการจ้างงานไม่น้อยกว่า 1,356.28 ล้านบาท เป็นต้น

พร้อมรับทราบเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร ซึ่งสืบเนื่องจากในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี ( 29 ก.ย. 59 ) นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System :MIS) ของทุกส่วนราชการ รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนราชการ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ ให้ศึกษาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจากประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยความก้าวหน้าการดำเนินงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการศึกษารูปแบบสารสนเทศที่หน่วยงานบางหน่วยงานได้มีการดำเนินการเพื่อนำเสนอข้อมูลตามนโยบาย/ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน และได้มีการจัดทำแบบสำรวจทรัพยากรและเครื่องมือที่หน่วยงานมีอยู่ รวมทั้งการร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้แก่กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสำรวจข้อมูลที่หน่วยงานต้องการใช้ เพื่อการบริหารทั้งในส่วนที่หน่วยงานเป็นผู้ผลิตข้อมูลและความต้องการในการใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นด้วย

------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ