คณะกรรมการนโยบายพลังงานฯเห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ-เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ-สภาพเศรษฐกิจ-และสถานการณ์ในปัจจุบัน

ข่าวทั่วไป Thursday December 8, 2016 14:30 —สำนักโฆษก

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ เห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้แสวงหาแนวทางในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ

วันนี้ (8 ธ.ค.59 ) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่5/2559 (ครั้งที่ 10) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรี แจ้งที่ประชุมว่า เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงต้องมีการแสวงหาแนวทางในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ โดยพิจารณาถึงเรื่องการพัฒนาประเทศในแนวทางใหม่คือไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : ECC) ซึ่งมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศทั้งระบบ ตลอดจนเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศประกอบการพิจารณาในการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้เพื่อให้ประชาชนและสังคมเกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและรองรับการดำเนินการสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์พลังงานปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 พบว่าภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่องการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.95 ล้านล้านบาท ส่วนแนวโน้มการใช้พลังงานในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ขณะที่ประมาณการราคาน้ำมันในปี 2560 จะอยู่ในช่วง 50 – 55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลและประมาณการความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในระบบของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ปี 2560 จะอยู่ที่ระดับ 31,365 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

รวมทั้งที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ภาพรวมของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือนตุลาคม 2559 พบว่า มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว จำนวน 7,218 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 9,215 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) กำหนดไว้ที่รวม 16,778 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 โดยสถานภาพการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีดังนี้ (1) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558 มีผู้ผ่านการคัดเลือก 67 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 281 เมกะวัตต์ (2)โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ภายใต้กลไกการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) มีผู้ผ่านการคัดเลือกรวม 5 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 38 เมกะวัตต์ (3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ มีผู้ผ่านการคัดเลือก 7 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 30.78 เมกะวัตต์ (4) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศการรับซื้อฯ

ขณะเดียวกันที่ประชุมรับทราบข้อสรุปการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบ โดยให้ลดการควบคุมธุรกิจการผลิตและจัดหาลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบถึงราคาขายปลีกมากเกินไป จนนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีทั้งระบบ คือการควบคุมราคาโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ แต่จะเปิดเสรีเฉพาะในส่วนการนำเข้า โดยให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้า และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซที่ผลิตในประเทศได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการเปิดเสรีส่วนนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป

ระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ ให้ยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา รวมถึงยกเลิกการประกาศราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ ภายหลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้

อีกทั้ง ที่ประชุม กพช. รับทราบการปรับปรุงประมาณการความต้องการใช้และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติตามแผน Gas Plan 2015 ที่ปรับปรุงใหม่ข้างต้น พร้อมเห็นชอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) ดังนี้ 1) โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง [T-2] ที่มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ให้ดำเนินการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG เพื่อให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ความต้องการ LNG ในอนาคต จากเดิม 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 38,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2565 2) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการจัดหา LNG ในอนาคต รองรับการใช้ก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และเพิ่มการแข่งขันธุรกิจจัดหา LNG ในอนาคต ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 24,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2567 โดยมอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะ 3)โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในประเทศเมียนมา เพื่อทดแทนการผลิตก๊าซฯจากพม่าที่จะหมดไปในอนาคต และกระจายความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซฯ โดยกระจายไปฝั่งตะวันตก เพื่อลดการพึ่งพาการจัดหาจากฝั่งตะวันออก ขนาด 3 ล้านตันต่อปี กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2570 โดยมอบหมายให้ ปตท. ไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 และนำเสนอผลการศึกษาต่อ กบง. ต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. รับทราบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 ตามที่ประชุม กบง. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนขับเคลื่อนฯ ดังกล่าว ได้กำหนดกิจกรรมและงบประมาณสำหรับดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งในปี 2560 – 2564 กิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้แผนขับเคลื่อนฯ มีจำนวน 20 โครงการ คิดเป็นงบประมาณรวม 2,082 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัย การสาธิตนำร่อง และการเตรียมการเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ การพัฒนาขีดความสามารถด้านสมาร์ทกริดของประเทศ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร และการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

สำหรับเป้าหมายและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย (1) ช่วยลดภาระการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท Peaking Plant 350 เมกะวัตต์ (2) ลดปัญหาความผันแปรของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยจัดทำค่าพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ (3) เกิดการใช้งานระบบโรงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก 3 – 5 โครงการ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เกาะที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

รวมถึงที่ประชุมรับทราบรายงานผลการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response Rate) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ลง โดยมีเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าอย่างน้อย 500 เมกะวัตต์ ในปี 2560 – 2561 โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแตกต่างกัน ใน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการ Critical Peak Pricing สำหรับลด Peak ของปี (2) มาตรการ Interruptible/Curtailable Service สำหรับภาวะฉุกเฉิน และ (3) มาตรการ Emergency Demand Response Program สำหรับรองรับการหยุดของแหล่งก๊าซฯ ทั้งนี้ จะเริ่มประกาศใช้ในปี 2560 - 2561 ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ จะจำแนกตามประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีการทบทวนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีมีเหตุที่ส่งผลให้ค่าบริการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในกรณีการลงทุนเดิมของผู้รับใบอนุญาต จะยังคงระดับผลตอบแทนการลงทุนตลอดอายุโครงการเดิม เพื่อคงสิทธิหรือภาระผูกพันที่มีอยู่เดิมตามมติ กพช. ที่เห็นชอบไว้ก่อนหน้า แต่กรณีการลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต ผลตอบแทนจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ โดยจะพิจารณาจากต้นทุนเงินทุนส่วนเพิ่มสำหรับโครงการใหม่เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง พร้อมมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ต่อไป

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและ LNG เพื่อความมั่นคง กระทรวงพลังงาน ได้มีการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 13.5 ล้านตันต่อปี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และในช่วงปลายแผน คือ ในปี 2579 ความต้องการการนำเข้า LNG จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 31 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนโครงสร้างพื้นฐานและการ จัดหา LNG ในระยะยาวของประเทศ ให้สอดคล้องและสามารถรองรับความต้องการใช้และการจัดหาที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้

รวมทั้งที่ประชุมเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท PETRONAS LNG LTD. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำหนดส่งมอบในปี 2560 - 2561 ในปริมาณรวม 1 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2562 ในปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี อายุสัญญาประมาณ 15 ปี ทั้งนี้ ให้ ปตท. ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) กับบริษัท PETRONAS LNG LTD. ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

พร้อมทั้งที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการบูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง” โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้การบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ บรรลุตามเป้าหมายของแผน EEP 2015 และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ข้อมูล:ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ