นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คตช. สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง-ให้ขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต

ข่าวทั่วไป Monday December 19, 2016 13:30 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คตช. ครั้งที่ 5/59 สั่งเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีในการประชุมครั้งต่อไป พร้อมสั่งการให้รวบรวมรายชื่อขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต

วันนี้ (19 ธ.ค.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2559 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. พร้อมด้วย รศ.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านการประชาสัมพันธ์ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม และ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

รศ.จุรี วิจิตรวาทการ กล่าวถึงการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เด็กนักเรียนได้เข้าถึงสาระสำคัญในหลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนร่วมไปกับทางโรงเรียนแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการผลิตสื่อใหม่เพิ่มเติมเพื่อส่งไปช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก โดยได้ผลิตแผ่นดีวีดีสื่อรณรงค์ประเภทต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และรณรงค์อย่างกว้างขวาง ประกอบด้วย 1. สื่อประชาสัมพันธ์ หลักสูตร “โตไปไม่โกง” 40,000 ชุด 2. สื่อแอนิเมชั่น ก้านกล้วยกับโตไปไม่โกง 40,000 ชุด 3. สื่อรณรงค์ “สำนึกไทย ไม่โกง” 10,000 ชุด 3. สื่อวิทยุรณรงค์สร้างจิตสำนึก 10,000 ชุด นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยว่าจะนำหลักสูตรโตไปไม่โกงลงไปสู่โรงเรียนส่วนท้องถิ่น พร้อมกับจะนำสื่อต่าง ๆ ไปเผยแพร่ด้วย และอาจจะมีโครงการอบรมสำนึกไทยไม่โกงให้กับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ มีบางประเทศในตะวันออกกลางจะขอส่งคนมาอบรมเรียนรู้หลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวว่า จะมีการกำหนดหน่วยงานที่สำคัญบางหน่วยงานที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเพื่อทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ของการที่จะได้รับใบอนุญาตจากทางราชการมีขั้นตอนที่ลดลง มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งคณะกรรมการชุดที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะได้กำหนดหน่วยงานต่าง ๆ ออกมา โดยในเบื้องต้น หน่วยงานที่ควรจะถือว่าเป็นต้นแบบของการใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่จะปรับปรุงระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กรมศุลกากร กรมที่ดิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานสำหรับการยื่นขอวีซ่าที่สนามบิน เพราะมีนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางมาเพื่อรักษาตัวในประเทศไทย แต่การออกใบอนุญาตให้เข้าประเทศยังมีความล่าช้ามาก โดยรัฐบาลจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา ขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เป็นการไปตรวจจับผิดแต่จะไปช่วยลดขั้นตอนการทำงาน แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่ต้องการเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คตช. มีมติเห็นชอบให้ทั้ง 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีนี้ในการประชุมครั้งต่อไป และสั่งการให้รวบรวมรายชื่อขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้มาทำประมูลงานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ กล่าวว่า ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 14 โครงการ ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 12 โครงการ และในปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการจำนวน 9 โครงการ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดและผลจากการเข้าสังเกตการณ์ได้ข้อสรุปว่า ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสามารถประหยัดงบประมาณได้ 2. โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) ที่ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ เพื่อเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (MSG) ตามหลักการของ CoST เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป 3. การศึกษาระบบมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2555 ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลราคากลางงานก่อสร้างภาครัฐ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล กล่าวว่า ที่ประชุมสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเร่งรัดการจัดทำคู่มือและแนวทางพัฒนาการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการจัดทำคู่บริการประชาชน มีมากกว่า 870,000 คู่มือ แต่ทาง กพร. ได้ตรวจความถูกต้องได้เพียง 35,000 คู่มือ หรือ 4.3 เปอร์เซ็นต์ ที่ประชุมจึงอนุมัติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานประกาศใช้คู่มือที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วออกไปก่อน และจะให้ กพร. ไปตรวจสอบพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมการเร่งรัดเข้าไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือต้องมีการคิดแนวทางในการพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยขอให้มีหน่วยงานตัวอย่างเพื่อการพัฒนาการให้บริการประชาชนเป็นการเร่งด่วน 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมที่ดิน และกรมศุลกากร ขณะที่มีหนึ่งหน่วยงานที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนที่รวดเร็วทันสมัย คือกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่ได้เสนอตัวโดยสมัครใจของหน่วยงาน

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีหนังสือชมเชยไปยังหน่วยงานที่มีผลงานด้านความโปร่งใสมีผลคะแนนดีเยี่ยม 2 ปีติดต่อกันรวม 157 หน่วยงาน ขณะที่มี 5 หน่วยงานที่ยังมีผลคะแนนประเมินต่ำ สำหรับในเรื่องคะแนนด้านความเชื่อมั่นจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกมาใช้ในทุกหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานรัฐบาลที่จะรับการประเมินจากต่างประเทศ ต้องเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการปรับปรุงไปมากแล้ว แต่นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ทราบ ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นอกจากนี้ เพื่อให้บังเกิดผลต่อการเพิ่มคะแนนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในประเทศด้วย จึงให้ยึดหลักว่าต่อไปนี้การทำงานภาครัฐ ต้องให้ชาวต่างประเทศเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย และหน่วยงานต้องปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก และหนังสือร้องเรียนของประชาชนมาใช้ในการกำกับการปฏิบัติงาน

พร้อมกันนี้ นายประยงค์ เปิดเผยว่า สำหรับคำสั่งมาตรา 44 ที่ได้โยกย้ายข้าราชการ รวมจำนวน 353 คน นั้น ต้นสังกัดได้ดำเนินการตรวจสอบและมีคำสั่งลงโทษตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานแล้ว 81 ราย ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ได้ชี้มูลไปแล้ว 17 ราย เท่ากับว่ามีผู้ที่ถูกระงับหรือต้องพ้นจากหน้าที่ไปแล้วทั้งหมด 98 ราย และต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ 40 ราย ซึ่ง ปปท. จะได้ตรวจสอบรายละเอียดและนำเสนอประสานกับ ป.ป.ช. ต่อไป เพราะข้อสั่งการคือหากต้นสังกัดบอกว่าไม่มีความผิด แต่ยังมีเรื่องค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ก็ต้องรอผลจาก ป.ป.ช. นอกจากนี้ มีต้นสังกัดรายงานมาว่า มีอยู่ 64 เรื่องที่ต้นสังกัดกำลังดำเนินการอยู่ และมีอีก 153 เรื่องที่ต้นสังกัดยังไม่ได้รายงานมา ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่มีคำสั่งมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือย้าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้หัวหน้าส่วนราชการหรือต้นสังกัดใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการทางปกครอง วินัย กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม หรืออาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานได้

-------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ