บีโอไอเห็นชอบส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท โดยปีหน้าเน้นส่งเสริมฯในมิติทรัพยากรมนุษย์ วิสาหกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 26, 2016 14:11 —สำนักโฆษก

วันนี้ (26 ธ.ค.59) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่5/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เข้าร่วมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบและพิจารณาเกี่ยวกับภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 และเป้าหมายในปี 2560 ซึ่งการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 11 เดือนแรกปี 2559 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด คือ 550,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ 600,000 ล้านบาท โดยได้มีการพิจารณาบริบทใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศไทย เช่น ทิศทางการลงทุน เครื่องมือส่งเสริมการลงทุนภายใต้กฎหมายใหม่ของบีโอไอ รวมถึงนโยบายการลงทุนในปี 2560 ตลอดจนการปรับโครงสร้างภายในองค์กรบีโอไอเพื่อรองรับภารกิจใหม่ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางทิศทางการลงทุนเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ โดยดูแลทั้งมิติการลงทุนภายในประเทศและการลงทุนต่างประเทศ เช่น นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม 10 S-Curve และ 5 Core Technologies ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ ขณะเดียวกันต้องดูแลทั้งการลงทุนที่เกิดขึ้นระดับประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องของการเกษตร Smart Farmer การที่จะทำให้เกิด SMEs ภาคการเกษตร พลังงานทดแทนที่มาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่บีโอไอจะพยายามดำเนินการขับเคลื่อนในปีหน้าในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยผ่านการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจภายนอกประเทศโดยดูแลการลงทุนตั้งแต่ระดับ 1.0 2.0 และ 3.0 รองรับการก้าวไปสู่การลงทุน Thailand 4.0 ในอนาคต

สำหรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในการที่จะเตรียมความพร้อมประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะไม่เน้นเฉพาะการลงทุนเรื่องอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จะครอบคลุมใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ 1) การลงทุนในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เช่น การดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะฝีมือสูง (Talents) จากต่างประเทศ 2) การลงทุนวิสาหกิจที่ครอบคลุมวิสาหกิจระดับชุมชนไปถึงวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เช่น วิสาหกิจ Start up วิสาหกิจเรื่องนวัตกรรม ตลอดจนการดูแลวิสาหกิจระดับชุมชน และ SMEs ภาคการเกษตรไปพร้อมกัน 3) การลงทุนอุตสาหกรรมใน 10 S-Curve ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งใน S-Curve เก่าที่ต่อยอด และอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต 4) เรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 5 Core Technologies ซึ่งบีโอไอจะพยายามดึงดูดให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีโดยไม่ใช่การดึงดูดให้เกิดการลงทุนเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เท่านั้น และ 5) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น เรื่องรถไฟฟ้า การขนส่งระบบราง เขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมไปถึงการส่งเสริมเรื่องของ Digital Infrastructure ที่จะให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายรองรับการส่งเสริมการลงทุนในอนาคต จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1) พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ (BOI) 2) พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (BOI Plus) 3) พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ4) พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีเป้าหมายส่งเสริมกิจการและกิจกรรม Merit ที่สอดคล้องกับยุทศาสตร์ 7 ปี (2558 -2564) และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯ ( BOI Plus) ซึ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใน Thailand 4.0 ตอบโจทย์ประเทศ (National Agenda) และเป็นการลงทุนใหม่ ๆ ที่มี impact สูง ซึ่งไม่สามารถดึงดูดด้วยเครื่องมือเดิม

พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท เช่น 1) Mr. XIAOXU WANG ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตลวดเหล็ก (STEEL CORD) เงินลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 5,130 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี 2) บริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (MTBE: METHYL TERTIARY BUTYL ETHER) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมโรงกลั่นนำมันปิโตรเลียม เงินลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 6,855 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง 3) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ซึ่งจะใช้สำหรับขนถ่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เงินลงทุน จำนวน 2,004 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง 4) บริษัท เหมราช สระบุรี ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรมเงินลงทุน 1,714 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้จะเป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

---------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ