รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab)

ข่าวทั่วไป Monday June 19, 2017 15:01 —สำนักโฆษก

รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab)

วันนี้ (19 มิถุนายน 2560) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ.ร. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โอกาสนี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงานว่า “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” (Design Thinking) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ โครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ Government Innovation Lab นั้นมีความสอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” หรือหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยหน่วยงานภาครัฐจะยึดเอาหลักการนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาบริการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสูงสุด ดังนั้น โครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) นับเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับการพัฒนางานบริการภาครัฐ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้รับบริการได้มีส่วนเข้ามาร่วมในการคิดและพัฒนางานบริการ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด เพื่อให้สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการให้บริการของทางราชการที่จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่และเวลา ตามนโยบายโมเดลการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เป็นข้าราชการ 4.0 ซึ่งต้องยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ และเหนือสิ่งอื่นใดการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการปรับเปลี่ยน Mindset ในการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) เป็นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐ ที่ในหลายประเทศได้นำมาประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น Mindlab ของเดนมาร์ก PolicyLab ของอังกฤษ GovLab ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การจัดให้มีห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้ในการประยุกต์การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งเน้นผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ (User or human-centered design) และอาศัยการสานพลังความร่วมมือ (Collaboration) กับทุกภาคส่วนเพื่อคิดค้นและสร้างร่วมกันผ่านกระบวนการทดสอบ ทดลองในห้องปฏิบัติการออกแบบ (Design Lab) ซึ่งมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ดังนี้ (1) การสร้างความเข้าใจบริบทภาพรวม : Understand The Broad context (2) การเข้าถึงสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่าง ๆ : Gain empathy for Stakeholder’s real needs (3) การทดลองความคิดที่หลากหลาย : Experiment with diverse ideas (4) การวางกลยุทธ์ขยายผล : Strategize the rollout

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงาน ในพิธีลงนามฯ ว่าชื่นชมและสนับสนุนโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) ของส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้รับรายงานเรื่องความพยายามของข้าราชการในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะอำนวยการความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อภายในหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรืออาจจะไม่เกี่ยวกับการติดต่อในหน่วยงานราชการก็ตาม ถือได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ข้าราชการจำเป็นต้องมีในการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน คือ การมี Service Mind หรือ Sense of Mind หรือจิตการให้บริการ ถ้าข้าราชการมีสิ่งเหล่านี้ภายในจิตใจก็จะช่วยให้การอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยขอให้ข้าราชการอย่ายึดถือในตำแหน่งหน้าที่ แต่ให้นึกว่าตนเองนั้นเป็นประชาชนที่จะมาขอใช้บริการกับหน่วยงานราชการ เช่นกัน

หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในสักขีพยานของการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) และการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการนำร่องการดำเนินงานตามโครงการ ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) โดยมีตัวแทนจาก สำนักงาน ก.พ.ร. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีให้เกียรติร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับตัวแทนคณะผู้บริหารของหน่วยงานดังกล่าวด้วยอัธยาศัยอันดี

************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ