ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 ฯ ภาพรวมการดำเนินการตามข้อเสนอประเด็นปฏิรูปฯ สปท. ส่งมายังรัฐบาลมีความคืบหน้าโดยลำดับ

ข่าวทั่วไป Thursday June 22, 2017 15:04 —สำนักโฆษก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 ฯ ภาพรวมการดำเนินการตามข้อเสนอประเด็นปฏิรูปฯ ที่ สปท. ส่งมายังรัฐบาลมีความคืบหน้าโดยลำดับ

วันนี้ (22 มิ.ย.60) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านระบบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 ครอบคลุมเรื่องของการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านระบบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ มีหลายคณะ ซึ่งการทำงานจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคณะอื่น ทั้งในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีคณะทำงานด้านกฎหมายและด้านปฏิรูปเช่นกัน แต่คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 ก็ยังคงทำงานขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลเช่นเดิม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานะข้อเสนอประเด็นปฏิรูปตามแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) (ข้อมูล 22 มิ.ย. 60) ที่ส่งมายังรัฐบาล จำนวน 156 เรื่อง ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประสานติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ซึ่งการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ มีความคืบหน้าโดยลำดับ เช่น การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานคุณธรรมแห่งชาติ พร้อมด้วยร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... การจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Sports Science: TISS) การพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี การพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของแรงงานไทยและร่างพระราชบัญญัติบูรณาการการพัฒนากำลังแรงงานแห่งชาติ พ.ศ. .... การพัฒนาศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center : NEIC) ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารการประชาสัมพันธ์ ในภาครัฐเพื่อความโปร่งใส พ.ศ. .... การปฏิรูประบบการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญและการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมแก่ข้าราชการ และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... การเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมสาขาหลัก การบริหารจัดการของจังหวัดที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area-based Approach) แนวทางปรับปรุงโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ แนวทางการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและการบังคับใช้กระบวนการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ และร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 2 ฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... การปฏิรูปการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า การปฏิรูปกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส การปฏิรูประบบการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชน การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปฏิรูประบบคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญา แผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ การวางแผนกำลังคนภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์ เป็นต้น

พร้อมทั้ง ที่ประชุมรับทราบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ โดย คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งฝ่ายเลขานุการ กขป. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็น 3 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติที่ 1) การเผยแพร่กฎหมายใหม่และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ แผนปฏิบัติที่ 2) การเผยแพร่กฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ และแผนปฏิบัติที่ 3 การเผยแพร่กฎหมายที่สื่อมวลชนควรรู้

ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ใช้กฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงเจ้าหน้าที่พนักงานอื่น ๆ หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ และ 2) กลุ่มผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะต้องมีการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ทางกฎหมาย และให้มีการพัฒนารูปแบบ วิธีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้สื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) สื่อกระแสหลัก ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ (2) สื่อออนไลน์ ได้แก่ Website Facebook E-mail Twitter Line และ (3) โครงการ/กิจกรรม ได้แก่ การกระจายเสียง การประชุม สัมมนา การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม และการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน การจัดหน่วยเคลื่อนที่ในชุมชน การจัดให้มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดจะมีการเสนอกฎหมายใหม่หรือกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมีการกำหนดกรอบให้ชัดเจน โดยหน่วยงานเจ้าของกฎหมายนั้นจะต้องกำหนดกรอบของกฎหมาย กลุ่มเป้าหมาย สื่อ/ช่องทาง วิธีการเผยแพร่กฎหมายของหน่วยงานตนที่เหมาะสม ผนวกเข้ามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งมิติการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ทางกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะนำมาเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณด้านกฎหมายของแต่ละหน่วยงานเพิ่มเติมด้วย

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีได้มติเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เสนอ โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสนอให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายจัดส่งแบบตรวจการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐให้สำนักงานกิจการยุติธรรม เมื่อกฎหมายนั้น ๆ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ