นายกรัฐมนตรี ยืนยันการปฏิรูปตำรวจต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากสังคม ย้ำให้ดำเนินการยึดหลักทางสายกลางและประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 11, 2017 15:16 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยยืนยันการปฏิรูปตำรวจต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากสังคม ย้ำให้ดำเนินการยึดหลักทางสายกลางและประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (7ก.ค.60) เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันถึงการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)ว่า การดำเนินดังกล่าว เพื่อต้องการให้ตำรวจได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ประชาชน และเป็นตำรวจที่มีศักดิ์ศรี มีความสง่างาม ซึ่งวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันปรับปรุงองค์กรตำรวจให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานให้ยึดหลักสายกลางคือคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งของประชาชนและตำรวจ เพื่อให้การปฏิรูปเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป้าหมายของการปฏิรูปให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตำรวจเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนได้ในทุกโอกาส สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดจนอัยการและศาล โดยบูรณาการหน่วยงานของรัฐ ลดภาระบางส่วน แยกภารกิจและพันธกิจให้ชัดเจน พร้อมย้ำกำหนดโรดแมปการปฏิรูปให้ชัดและเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาฯ ฉบับอื่น ๆ ในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และ 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และส่วนการกระจายอำนาจจะต้องเป็นการกระจายทั้งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เปิดเผยถึงผลการหารือของคณะกรรมการฯสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีจำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (ที่ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจ) จำนวน 1 คน คือ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจงานตำรวจ และงานที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กร และความมั่นคง ส่วนกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด กรรมการฝ่ายตำรวจ จำนวน 15 คน กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ (พลเรือน) จำนวน 15 คน ทั้งนี้ โครงสร้างของการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนด และเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้คณะกรรมการฯ สรุปเรื่องที่คณะกรรมการหรือคณะบุคคลต่าง ๆ ได้ทำการศึกษาวิจัยการปฏิรูปตำรวจไว้แล้วนำมาประกอบการพิจารณาของที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร โดยให้พิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะสังกัดหน่วยใด เช่น ให้อยู่แบบเดิม หรือจะไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงการตั้งเป็นกระทรวง หรือทบวง ตลอดจนพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องที่ควรจะกระจายออกไป หรือควรมารวมอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ 2) เรื่องกระบวนการยุติธรรม เป็นการพิจารณาอำนาจสอบสวนว่าควรจะอยู่เช่นเดิม หรือควรแยกออกไป รวมถึงการประสานงานของตำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรจะทำงานเชื่อมโยงหรือแยกกันอย่างไร และ3) เรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย การคัดบุคคลเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเหมาะสมทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การให้ตำรวจมีเครื่องแบบ การโอนตำรวจไปอยู่กระทรวงอื่นจะเทียบกันอย่างไร รวมถึงการจัด สรรพกำลังเสริมการทำงานของตำรวจ เป็นต้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งนี้เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น โดยการประชุมครั้งแรกกำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ รวมถึงคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น โดยจะเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมให้ความเห็นต่อที่ประชุมด้วย พร้อมไปรับฟังความเห็นจากข้าราชการตำรวจ สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จากนั้นการประชุมครั้งต่อไปจะประชุมสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยจะพิจารณาหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ