รอง นรม. พล.ร.อ. ณรงค์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560

ข่าวทั่วไป Thursday July 13, 2017 15:31 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พล.ร.อ. ณรงค์ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2560) เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560

ที่ประชุมรับทราบนโยบายการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา และการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการตามรายงานผลการใช้ยาต้านแบคทีเรียเกินจำเป็นอย่างไม่สมเหตุผล หรือใช้อย่างไม่ถูกต้องทั้งในสถานพยาบาลของคนและของสัตว์ในชุมชน ในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนการขาดการติดตามและควบคุมการระบาดของแบคทีเรียดื้อยา จึงเป็นสาเหตุของวิกฤติแบคทีเรียดื้อยา แต่ในขณะเดียวกันการผลิตยาต้านแบคทีเรียใหม่ขึ้นมาทดแทนซึ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้น รวมทั้งอาจมีอันตรายมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงมีหน้าที่สำคัญในการช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ได้แก่ภาคราชการ องค์กรวิชาชีพ องค์กรที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยบริการสุขภาพ ภาคเกษตรกรรม ภาคการศึกษา ภาคธุกิจและอุตสาหกรรม สื่อมวลชน ตลอดจนภาคประชาชนและประชาสังคม และต้องมีกลไกกลางแห่งชาติที่เข้มแข็งในการบูรณาการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายและมีทิศทางที่ถูกต้อง รวมทั้งใช้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียวของ คน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม”

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมาตามยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 (สิงหาคม 2559 - มิถุนายน 2560) ประกอบด้วยเป้าประสงค์ 5 ข้อ ดังนี้ (1) การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลง ร้อยละ 50 (2) ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลดลง ร้อยละ 20 (3) ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรรับสัตว์ลดลง ร้อยละ 30 (4) ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 (5) ระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล (ไม่ต่ำกว่าระดับ 4 ของเกณฑ์การประเมินร่วมของการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศจากองค์การอนามัยโลก)

อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล คลินิค และร้านยา ยุทธศาสตร์ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช่ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบกรอบธรรมาภิบาลตลอดจนกรณีการมีส่วนได้ส่วนเสียของคณะกรรมการฯ รวมทั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานทุกคณะภายใต้คณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติเพื่อแสดงว่าคณะกรรมการฯ ทุกคนไม่เป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมพิจารณาและมีมติเห็นชอบข้อเสนอผลการประเมินระบบการจัดการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ภายใต้กรอบการประเมินร่วมตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2560 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประเมินร่วมขององค์การอนามัยโลกไปปฏิบัติในประเด็นที่สำคัญและมีความเร่งด่วน และจากนั้น ที่ประชุมพิจารณาและมีมติเห็นชอบเป้าหมายเร่งด่วน (Quick win) ตามยุทธศาสตร์การจัดการการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564 พร้อมเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564

ตอนท้ายของการประชุม ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบบทบาทเชิงรุกของประเทศไทยในเวทีโลกเพื่อการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา เพื่อเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 -2564 ที่ให้ความสำคัญกับการธำรงบทบาทเชิงรุกของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จึงเห็นควรสนับสนุนการประชุมของกลุ่ม IACG ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ประจำปี พ.ศ. 2561 และการประชุม One Health AMR Multi-Sectoral Call to Action ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกิจกรรมในการขับเคลื่อนงาน AMG ของประเทศไทยต่อไป

*******************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ